ทศพิธราชธรรม

ทศพิธราชธรรมของ “พระธรรมราชา”

    หนึ่งในทศพิธราชธรรมที่ประจักษ์ชัดที่สุดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็คือข้อที่เรียกกันว่า "มัททวะ" หมายถึง ความอ่อนโยนและอ่อนน้อมถ่อมตน

    ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ผู้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทได้กล่าวถึงเรื่องความอ่อนโยน กับความอ่อนน้อมถ่อมตนว่า เป็นเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงกำชับและทรงสั่งสอนอยู่เสมอถึงแม้ว่าพระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศที่อยู่สูงสุด แต่เวลาเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรนั้นจะเห็นความอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ตลอดเวลา เช่น ทรงรับสั่งกับประชาชนและเจ้าหน้าที่ด้วยความเมตตา ทรงคุกเข่าหรือทรงนั่งประทับพับเพียบอยู่กับพื้น และทรงสนทนากับประชาชนโดยไม่ถือพระองค์แม้แต่น้อย

    ดร.สุเมธเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระองค์ให้พวกเราเห็นอยู่ตลอดเวลาที่มีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรนับเป็นชั่วโมงๆ อย่างใกล้ชิด และทรงถือขนบธรรมเนียมไทยที่จะไม่ยืนค้ำผู้เฒ่าผู้แก่ โดยประทับลงรับสั่งกับราษฎร แม้ว่าเป็นตอนเที่ยงที่แดดร้อนเปรี้ยงอยู่ก็ตาม

    ตามคำบอกเล่าของผู้ที่ได้ถวายงานใกล้ชิด กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มักทรงรับสั่งเป็นการเฉพาะไม่ให้มีการกีดกันในเวลาที่ราษฎรเข้าเฝ้าฯ จึงได้ทรงไต่ถามทุกข์สุขและรวมทั้งการทำมาหากินของราษฎรได้อย่างใกล้ชิด


    ทศพิธราชธรรมในข้อที่เรียกว่า "มัททวะ" หรือความสุภาพอ่อนโยนจะหาไหนเท่าพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ไม่ได้แล้ว ดังจะเห็นได้จากภาพประวัติศาสตร์ที่ทรงโน้มพระองค์ไปรับดอกบัวกับหญิงชราคนหนึ่งที่จังหวัดนครพนมเมื่อกว่า 60 ปีก่อน

    ภาพนี้นับเป็นภาพที่ประจักษ์กันทั่วไปในพระราชจริยวัตรที่อ่อนโยนมีเมตตาและมีไมตรียิ่งต่อเหล่าพสกนิกร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรมตลอดมาอย่างแท้จริง

 

  เปิดเรื่องราวหลังภาพประทับใจ แม่เฒ่าตุ้ม ผู้ถวายดอกบัวแก่ ในหลวง ร.9

แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ผู้ถวายดอกบัว 3 ดอก แก่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อบ่ายวันที่ 13 พฤศจิกายน 2498
อ้างอิง : KAPOOK Hilight

 

 

     คำว่า ทศพิธราชธรรม หมายถึง ธรรม 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์เป็นคุณธรรมของพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองบ้านเมืองมี 10 อย่าง คือ ทาน ศีล บริจาค อาชชวะ มัททวะ ตบะ อักโกธะ อวิหิงสา ขันติ อวิโรธนะ

    นักปราชญ์ว่าตามปกติพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้น แม้ว่าจะอยู่เหนือกฎหมายแต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในกรอบแห่งราชธรรมทั้ง 10 ประการนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็น “พระธรรมราชา” ตามหลักพุทธศาสนา

    ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวถึงความเป็นมาของทศพิธราชธรรมหรือว่าหลักธรรม 10 ประการนี้ว่ามาจากตำราธรรมศาสตร์ ที่อาศัยหลักธรรมจากศาสนาพุทธในการกำหนดอำนาจ และการปฏิบัติตนของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีมานานแล้วแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงแม้ว่าในสมัยอยุธยาจะรับเอาลัทธิเทวราชมาจากเขมรที่ว่าพระมหากษัตริย์คือ เทพเจ้าองค์หนึ่ง แต่ก็ต้องทรงปฏิบัติพระองค์อยู่ใต้กฎหมายของธรรมศาสตร์นี้ทั้งที่เป็นเทวราช

    นั่นก็คือ หน้าที่ที่พระมหากษัตริย์ต้องถือเอาความสุขของราษฎรเป็นใหญ่เหนือสิ่งใดทั้งสิ้น

    “พระธรรมราชา” ในคติของศาสนาพุทธตามที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวถึงไว้ก็คือ พระราชาหรือพระมหากษัตริย์ต้องถือเอาความสุขของราษฎรเป็นใหญ่ และต้องทรงปฏิบัติธรรม ปฏิบัติพระองค็ถูกต้องตามธรรมทั้งปวงให้เป็นตัวอย่าง ตลอดจนต้องทรงชักนำให้ผู้อื่นอยู่ในธรรมนั้นด้วย

    พระมหากษัตริย์จะต้องอยู่ในธรรมด้วยพระองค์เอง จะต้องเป็นผู้รักษาธรรม แล้วเป็นผู้สอนธรรมให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งจะต้องเป็นผู้รักษาธรรมให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งจะต้องใช้พระราชอำนาจนั้นปกป้องผู้ประพฤติธรรม ส่วนพระราชอำนาจอันล้นพ้นที่มีอยู่กถูกจำกัดอยู่ด้วยธรรมนั่นเอง

    ม.ร.ว คึกฤทธิ์ บอกว่า หลักธรรมศาสตร์ทำให้พระมหากษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดินไทยไม่หลุดไปจากราษฎรคือ ไม่อยู่ห่างไกลราษฎร แต่อยู่ในฐานะใกล้ชิดและรู้ทุกข์สุขของราษฎรเป็นสำคัญอยู่เสมอ
ทศพิธราชธรรมก็คือรายละเอียดที่ปรากฎอยู่ในพระธรรมศาสตร์ที่หมายถึงธรรม 10 ข้อที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงปฏิบัติ

    ทศพิธราชธรรมตามที่ได้มีการอธิบายกันไว้ สรุปได้ดังนี้

  1. ทาน หมายถึง การให้ การแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อ ทั้งทางกายและใจ ตลอดจนถึงการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เสียสละ สงเคราะห์ อนุเคราะห์ประชาราษฎรทั่วไป
  2. ศีล หมายถึง ความประพฤติดีงาม เป็นสุจริตธรรม มีความสงบร่มเย็น สำรวมกาย วาจาใจ จนเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์
  3. ปริจจาคะ หรือการบริจาค หมายถึง การเสียสละความสุข ความสำราญส่วนตัว เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ราษฎร หรือเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
  4. อาชชวะ หมายถึง ความชื่อตรง ความมุ่งมั่นตั้งใจจริง
  5. มัททวะ หมายถึง ความอ่อนโยน ความสุภาพ และความมีอัธยาศัยนุ่มนวล ไม่ถือตัว ตลอดจนหมายถึง ความสง่างาม และท่วงทีอันเป็นทั้งที่รักและยำเกรง
  6. ตบะ หมายถึง ความเพียร การข่มใจ และความทรงเดชอันเป็นที่มาของพระบรมเดชานุภาพ
  7. อักโกธะ หมายถึง ความไม่โกรธ ไม่ลุแก่อำนาจ หรือว่า มีความเมตตาเป็นธรรมประจำใจอยู่เสมอ
  8. อวิหิงสา หมายถึง ความไม่เบียดเบียนกดขี่ ไม่หลงระเริงในอำนาจขาดความกรุณา
  9. ขันติ หมายถึง ความอดทน อดกลั้น ทนต่อการงานที่ตรากตรำไม่ท้อถอย ไม่ยอมหมดกำลังใจ และไม่ละทิ้งการงานที่เป็นการบำเพ็ญโดยชอบธรรม
  10. อวิโรธนะ หมายถึง การยึดมั่นในธรรม การยึดความเที่ยงธรรม ความถูกต้องเป็นที่ตั้ง
    ทั้ง 10 ข้อนี้จะเห็นว่าไม่มีข้อใดเลยที่จะไม่ปรากฏอยู่ในพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดระยะรัชกาลอันยาวนานนับ 70 กว่าปี

ความหนักแน่น เที่ยงธรรม : ทรงรักษาความเที่ยงธรรม และความยุติธรรมไม่ให้เบี่ยงเบนไปจากความถูกต้อง ทั้งในพระราชจริยวัตรและพระราชวินิจฉัย ไม่เอนเอียงหวั่นไหว ไม่ยินดียินร้ายต่ออคติทั้งปวง ไม่ประพฤติผิดไปจากพระราชประเพณี

ทรงมีความอดทน ต่อความทุกข์อันเกิดจากความยากลำบากในการเข้าหาประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ทรงอดทนต่อความไม่สบายพระวรกาย ทรงอดทนต่อทุกข์อันเกิดจากโรคภัย ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือประชาชน

ความไม่เบียดเบียน : ด้วยพระราชอัธยาศัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา พระองค์จึงทรงตั้งอยู่ด้วยการไม่เบียดเบียนทั้งราชวงศ์และข้าพระบาท รวมถึงประชาชน ให้ต้องเดือดร้อนด้วยเหตุอันไม่ควร

ทรงมีพระนิสัยที่ไม่โกรธ ทั้งทรงสามารถระงับความโกรธด้วยมีพระเมตตาเป็นที่ตั้ง ทำให้ทรงทอดพระเนตรเห็นปัญหาและหนทางแก้ไขปัญหานั้นได้โดยสงบ ทั้งยังไม่ทรงใช้พระราชอำนาจเพื่อมุ่งร้ายผู้อื่น แต่ทรงใช้เพื่อพระราชทานอภัยโทษตามควรแก่เหตุ

ทรงมีความอุตสาหะวิริยะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยความอดทน ปราศจากความเกียจคร้าน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและบ้านเมือง ไม่ย่อท้อ แม้บางขณะจะทรงพระประชวร แม้ในบางพื้นที่บางเหตุการณ์จะเต็มไปด้วยอันตราย ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นจากพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ที่พระราชทานให้ปวงชนชาวไทย

ความสุภาพ อ่อนโยน : ในหลวง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่ถือพระองค์ โดยเฉพาะกับประชาชน ทรงมีสัมมาคารวะต่อพระสงฆ์ ต่อผู้เจริญโดยวัยและโดยคุณ ทรงรับฟังปัญหา คำชี้แนะ และแก้ไขด้วยเหตุผล ด้วยความเมตตาและอ่อนโยน

หมายถึง ความซื่อตรงความสุจริต ความจริงใจ ดังจะเห็นได้จากความซื่อตรงต่อพระองค์เอง ต่อหน้าที่ และต่อประเทศชาติมาโดยตลอด สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นผ่านความแน่วแน่ต่อพระราชดำรัสที่เคยตรัสไว้อันเป็นปฐมบรมราชโองการเมื่อทรงครองราชย์ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ซึ่งพระองค์ทรงกระทำตามพระราชดำรัสเสมอมา รวมถึงความสุจริตต่อมิตรประเทศ พระราชวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท

การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม  เสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อประชาชนมีความสุข ในพระราชกรณียกิจที่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนั้น ในหลวงต้องเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ต้องทนลำบากในการเดินทาง อดทนต่อความแปรปรวนของอากาศ ความร้อนหนาว ก็เพื่อสร้างความสุขให้ประชาชนทั้งสิ้น

ความประพฤติดีงาม เป็นความดีงามของกาย วาจา ใจ ที่ประชาชนจะเห็นได้ในทุกพระราชจริยวัตรของในหลวงทั้งกาย วาจา และพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ทั้งยังหมายถึงศีลในการปกครอง อันได้แก่กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา ที่พระองค์ทรงออกผนวชเพื่อศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัย ทั้งอุทิศพระราชกุศลพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย

การให้ การเสียสละ หมายถึง การเสียสละพระราชทรัพย์ เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ทั้งในด้านบำรุงพระพุทธศาสนาและบรรเทาความยากไร้ ให้ประชาชนอยู่เป็นกิจวัตร ทั้งยังทรงเป็นผู้นำในการบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จากภัยธรรมชาติหลายต่อหลายครั้ง นอกจากทรัพย์แล้ว ทาน ของในหลวงยังหมายถึงพระราชทานความรู้ เพื่อประชาชนจะได้ใช้เป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้