โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  46662 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

   “ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือนพระตำหนักจิตรลดาและบริเวณสวนจิตรลดา ที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลาและไร่นาทดลอง อีกทั้งผองโคนม ผสมด้วยโรงสีและโรงงานหลากหลายจึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรและพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทำงานอย่าง หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ด้วยพระองค์เอง”

คำกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล
ของ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา
ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ.2523

 

 

 

   ประวัติ
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณทุ่งส้มป่อย ซึ่งในปัจจุบัน สมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุยเดช โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร โปรดเกล้าฯให้สร้างโรงเรียนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2501 เป็นสถานศึกษาชั้นต้นสำหรับพระโอรส พระธิดาและบุตรหลานข้าราชสำนัก โปรดเกล้าฯให้สร้างศาลาดุสิดาลัย เป็นศาลาอเนกประสงค์


 

ภายในพระตำหนัก สมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุยเดช ให้เป็นสถานที่ทดลองโครงการทดลองส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร เพื่อนำผลการศึกษาพระราชทานแก่ประชาชน เช่น โครงการนาข้าวทดลอง โครงการค้นคว้าวิจัยเชื้อเพลิงเขียว โครงการปลูกข้าวไร่ โครงการเลี้ยงปลานิล และโครงการโคนม รวมทั้งยังมีโรงงานจากโครงการทดลองของพระองค์เกิดขึ้นหลายประเภท เช่น โรงโคนมสวนจิตรลดา โรงนมผงสวนดุสิต โรงนมเม็ดสวนดุสิต โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงผลิตน้ำผลไม้ โรงบดและอัดแกลบ และโรงปุ๋ยอินทรีย์

 



 

ภาพต้นฉบับ ที่มา: http://travel.mthai.com/blog/144578.html

 ภาพต้นฉบับ ที่มา: http://travel.mthai.com/blog/144578.html



 

    โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรดา
“… วันนี้จึงเป็นวันที่สำคัญ เพราะโรงงานนี้เป็นโรงงานตัวอย่าง และจะดำเนินการเป็นตัวอย่างสำหรับกสิกรและผู้ที่สนใจในการผลิตนมในประเทศไทย โรงงานนี้เป็นแห่งแรกที่ทำขึ้นในเมืองไทย และก็เป็นที่น่าภูมิใจว่าคนไทยได้ออกแบบและเป็นผู้สร้าง ขอให้ถือว่าโรงงานนี้เป็นโรงงานตัวอย่าง ใครอยากได้ความรู้ ใครอยากที่จะทำกิจการโคนมให้สำเร็จให้ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์แก่ตน แก่เศรษฐกิจของบ้านเมืองก็ให้มาดูกิจการได้ทุกเมื่อ …”

 

 

พระราชดำรัสของสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุยเดช 
พระราชทานเนื่องในพิธีเปิดโรงงานนมผง ” สวนดุสิต ” ณ บริเวณสวนจิตรลดา 
วันอาทิตย์ที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๑๒

 

 

     ความเป็นมาของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
จากการที่สมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะเห็นประชาชนอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่อัตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักของประเทศ จึงทำให้เกิด “โครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร สวนจิตรลดา” ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นราชฐานที่ประทับในปีพุทธศักร2504



โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
            มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อศึกษา ทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆ เช่น การปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม การเพาะพันธุ์ปลานิล และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผลการศึกษาสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างในการนำไปปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินการโดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน

 


โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ
1.  เป็นโครงการทดลอง โดยเก็บข้อมูลไว้เพื่อศึกษาและเพื่อผู้ที่สนใจขอข้อมูลมาเพื่อศึกษา ถ้าต้องการจะทำตามหรือคิดว่าโครงการนี้ดีเป็นตัวอย่าง ก็ขอข้อมูลไปเพื่อพิจารณา และเริ่มกิจกรรมของหน่วยงานนั้น
2.  เป็นโครงการตัวอย่าง
3.  เป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร หมายถึง โครงการใดก็ตามที่จัดทำขึ้นนั้น ถ้าหากว่าขาดทุนก็ยังทำต่อไป แต่จะพิจารณาหาโครงการอื่นซึ่งสามารถที่จะทำกำไร นำมาสนับสนุนโครงการที่ขาดทุน เพราะฉะนั้นต้องไม่ท้อถอยต่อการที่จะทำแล้วขาดทุนต่อไป

 


โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
1.  แบบไม่ใช่ธุรกิจ โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจ หมายถึง โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากราชการหลายๆ หน่วยงาน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีรายรับและรายจ่ายประจำ เช่น การเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลาหมอเทศ ทำป่าไม้สาธิต หาข้าวทดลอง เลี้ยงโคนม การเลี้ยงขยายพันธุ์ปลานิล ปลูกข้าวไร่ จัดทำก๊าซชีวภาพ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสวนพืชสมุนไพร อาคารวิจัยและพัฒนา
 
2.  แบบกึ่งธุรกิจ ไม่ใช่ธุรกิจเต็มตัว เป็นโครงการที่มีรายรับและรายจ่าย ที่เรียกว่ากึ่งธุรกิจก็เพราะว่าไม่มีการแจกผลกำไร ไม่แบ่ง เพราะนำผลกำไรมาขยายงาน โครงการแบบกึ่งธุรกิจ ได้แก่ โรงโคนม ศูนย์รวมนม โรงสีข้าวทดลอง โรงบดและอัดแกลบ ห้องปฎิบัติการทดลองเพื่อตรวจสอบคุณภาพของผลผลิต โรงผลิตน้ำผลไม้ โรงนมผงสวนดุสิต โรงนมเม็ด โรงเนยแข็ง โรงอบผลไม้ โรงบดและอัดแกลบ โรงกลั่นแอลกฮอล์เพื่อการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น นำแอลกอฮอล์มาผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ โรงหล่อเทียนหลวง โรงผลิตกระดาษสา โรงเห็ดและโรงอาหารปลา เป็นต้น และมีโครงการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต ค้นคว้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ของโครงการฯ ตลอดจนส่งเสริมเพิ่มความรู้ความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่เป็นขวัญและกำลังใจเพื่อการวิจัยและพัฒนาของโครงการฯ

 


ตัวอย่างโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
แบบไม่ใช่ธุรกิจ
1. “แปลงนาทดลอง”  โครงการข้าวเพื่อเกษตรกรชาวไทย
         เมื่อปี พ.ศ. 2498 สมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกิจกรรมของสถานีทดลองพันธุ์ข้าวพิมาย จังหวัดนครราชสีมา (ปัจจุบันคือศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมา) ทำให้พระองค์สนพระราชหฤทัยที่จะทดลอง “ทำนา” ด้วยพระองค์เอง จึงทรงใช้พื้นที่ในสวนจิตรลดา เพื่อการศึกษาทดลองเรียนรู้ศาสตร์จากดินและพืช
         ข้าว (Oryza sativa L.) เป็นพืชอาหารคู่กับประเทศไทยมาแต่โบราณ การทำนาเป็นอาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ พระมหากษัตริย์ ทรงเห็นความสำคัญของผู้ประกอบอาชีพนี้ เมื่อถึงเดือนหกของทุกปี ซึ่งเป็นระยะที่ชาวนาไทยเริ่มต้นการทำนา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคล และบำรุงขวัญเกษตรกร ถือฤกษ์ยามเหมาะสมตามประเพณี โดยสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ และปรับปรุงพิธีการบางอย่าง ให้เหมาะสมกับยุคสมัยด้วย

 



ปัจจุบันนาข้าวทดลองสวนจิตรลดา ได้ทำการปลูกข้าวนาสวน และข้าวไร่ในฤดูฝน หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ในช่วงฤดูแล้ง จะปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนในนาข้าวด้วย

 

 

 

 

 อ้างอิง
ฝ่ายวิชาการสถาพรบุ๊คส์.(๒๕๖๐).หนังสือชุดศาสตร์พระราชาสวนจิตรลดา.กรุงเทพฯ:สถาพรบุ๊คส์.

 

 


1.  การทำข้าวนาสวน (Lowland Rice) เป็นการปลูกข้าวแบบตกกล้า ปักดำเป็นแถวในสภาพดินมีน้ำขัง พื้นที่ประมาณ 3.6 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์หลัก ซึ่งเป็นพันธุ์มาตรฐานที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในภาคต่างๆ


2.  การปลูกข้าวไร่ (Upland Rice) เป็นการปลูกแบบใช้เมล็ดหยอดหลุม ให้เป็นแถวบนที่ดอน ไม่มีน้ำขัง พื้นที่ประมาณ 1.2 ไร่ ส่วนใหญ่อาศัยน้ำ ฝนเป็นหลัก ปลูกทั้งพันธุ์ข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ที่เป็นพันธุ์ดีส่งเสริมให้ปลูกในแหล่งที่มีการปลูกข้าวไร่ของประเทศ


3.  การปลูกพืชหมุนเวียน (Rotation Crops) เป็นการปลูกพืชตระกูลถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ในฤดูแล้ง หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ เพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดินและสาธิตการปลูกพืชไร่ หลังการทำนา ทำให้พื้นที่นาเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด
 


 
 
 
2. โรงสีข้าวตัวอย่าง
สมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงสีข้าวตัวอย่างขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๑๔ เพื่อทำการทดลองสีข้าวและสร้างยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกแบบต่าง ๆ และในปัจจุบันได้ดัดแปลงยุ้งฉางแบบสหกรณ์ให้สามารถนำข้าวเปลือกเข้าและออกจากยุ้งไปสีโดยไม่ต้องใช้คนแบกขน

 


2.1   เครื่องสีข้าวปิ่นแก้ว สร้างเมื่อปี พ.ศ.2516 นับเป็นเครื่องสีข้าวต้นแบบของโครงการ


2.2. เน้นให้เห็นถึงทฤษฎี เศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเครื่องจักรที่ไม่สลับซับซ้อน ให้อัตราการผลิตที่พอเหมาะแก่เกษตรกรรายย่อย สามารถสีข้าวได้ 1,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมง 


 

 

 

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. เวลา 15.48น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ไปทอดพระเนตรโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เป็นการส่วนพระองค์

ที่มา ข่าวสด https://www.posttoday.com/social/royal/352075

 

3. เอทานอล
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเอทานอลภายในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาเริ่มตั้งแต่การทดลองปลูกอ้อยหลายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุด นำมาทำแอลกอฮอล์ นอกจากอ้อยที่ผลิตได้ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาแล้วในหลวงยังทรงมีพระราชดำริให้ออกไปรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบอีกด้วย โดยโรงงานแอลกอฮอล์ซึ่งมีทั้งเครื่องหีบอ้อย ถังหมักหอกลั่นขนาดเล็ก เริ่มเดินเครื่องการผลิตครั้งแรกในปีพ.ศ.๒๕๒๙ สามารถผลิตแอลกอฮอล์ ๙๑ เปอร์เซ็นต์ได้ในอัตรา ๒.๘ ลิตรต่อชั่วโมงต่อมาเนื่องจากวัตถุดิบมีไม่เพียงพอ จึงเปลี่ยนมาใช้กากน้ำตาล และมีการสร้างอาคารศึกษาวิจัยหลังใหม่ ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดานั่นเอง

 

 

 


สำหรับแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้ในช่วงแรกยังไม่สามารถนำไปผสมกับเบนซินได้ จึงนำผลผลิตที่ได้ไปทำเป็นน้ำส้มสายชูแทน และต่อมาก็ทำเป็นแอลกอฮอล์แข็งใช้อุ่นอาหารให้กับทางห้องเครื่องของสวนจิตรลดา เนื่องจากเดิมใช้แอลกอฮอล์เหลว แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นมีที่มาจากครั้งหนึ่งเมื่อมีการขนส่งแอลกอฮอล์เหลวไปยังพระตำหนักทางภาคเหนือ ก็มีเคราะห์ร้ายรถเกิดอุบัติเหตุทำให้ไฟไหม้รถทั้งคันเพราะแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ต่อจากนั้นมาจึงได้มีการคิดนำแอลกอฮอล์มาทำเป็นเชื้อเพลิงแข็งเพื่อความปลอดภัยแทน และหลังจากนั้นความมุ่งมั่นของพระมหากษัตริย์นักพัฒนาก็ไม่เคยหยุดยั้ง พระองค์ทรงติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด โรงงานแอลกอฮอล์จึงมีการปรับปรุงการกลั่นเรื่อยมา จนกระทั่งสามารถผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ หรือ “เอทานอล” ได้เป็นผลสำเร็จ


การผสมแอลกอฮอล์กับเบนซินของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาในระยะแรกเป็นการนำน้ำมันและเอทานอลมาผสมในถังธรรมดา ใช้แรงงานคนเขย่าให้เข้ากัน

 

 

 


ต่อมาบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในเวลานั้น) จึงน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายหอผสม และสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์แก่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา รวมถึงในปีพ.ศ.๒๕๔๔ ภาคเอกชน ๒ กลุ่ม ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องแยกน้ำออกจากเอทานอล (Dehydration Unit) ๒ แบบ คือ เครื่อง Molecular Sieve Dehydration Unit และเครื่อง Membrane Dehydration Unit โดยปัจจุบันสถานีบริการเชื้อเพลิงในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา นอกจากผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์เติมให้กับรถยนต์ทุกคันของโครงการแล้ว งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดายังเป็นแหล่งความรู้แก่ประชาชนที่สนใจอีกด้วย จากต้นทางพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ผู้เป็น “ปราชญ์แห่งการพัฒนาพลังงาน” ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีน้ำมันแก๊สโซฮอล์ก็ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง
 
 
 
4. ”การเพาะเลี้ยงปลานิล” แหล่งโปรตีนของพสกนิกรชาวไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ ทรงพบความเป็นอยู่ของราษฎร ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยากจน และขาดสารอาหารประเภทโปรตีน ทำให้เป็นโรคขาดสารอาหารกันมาก เนื้อสัตว์ราคาถูกที่พอจะหามาบริโภคได้คือปลา ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยมาแต่ดั้งเดิม จนมีคำกล่าวว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่นับวันปลาที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็จะลดลงเรื่อยๆ เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงและจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาโตไม่ทันการบริโภค

 
 


 


    ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งทรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าชายอากิฮิโต มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่นทูลเกล้าฯ ถวายลูกปลาสกุลเดียวกับปลาหมอเทศ ซึ่งเจริญเติบโตง่าย ทนทาน และออกลูกง่าย จำนวน 25 คู่ (50 ตัว) น้ำหนักตัวละประมาณ 14 กรัม ความยาว 9 เซนติเมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อซิเมนต์ ใกล้พระตำหนักที่ประทับสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเลี้ยงในบ่อดินขนาด 10 ตารางเมตร เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 5 เดือน ปรากฏว่าปลาชนิดนี้ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก จึงทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดบ่อเพิ่มอีก 6 บ่อ ขนาดพื้นที่เฉลี่ยบ่อละ 70 ตารางเมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายปลาจากบ่อเดิมไปปล่อยในบ่อใหม่ทั้ง 6 บ่อ

  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ จึงทรงเริ่มศึกษา และทดลองขยายพันธุ์ปลาในบ่อปลาที่ขุดขึ้นในสวนจิตรลดา เพื่อเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์ปลาให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเพียงพอสำหรับการบริโภค ทรงเลือกเพาะพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทย และพันธุ์ต่างประเทศ ที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว และสามารถนำไปเพาะเลี้ยงในแหล่งน้ำทุกภูมิภาคได้ เมื่อทรงเห็นว่าได้ผลดีแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายพันธุ์ปลา เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ราษฎรเลี้ยงต่อไป

  

   

  



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้