ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง จังหวัดเชียงใหม่

Last updated: 4 ก.ค. 2565  |  3749 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง  จังหวัดเชียงใหม่

    “...ให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง เพื่อแก้ปัญหาการปลูกพืชเสพติด โดยให้โครงการหลวงพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรกลุ่มบ้านห้วยตอง... ”

พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


ประวัติความเป็นมา

    เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดีสิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติสยามบรมราชกุมารี เพื่อเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยตอง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า บริเวณนี้ยังมีพืชเสพติดอยู่มาก ควรจะส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่มีรายได้ทัดเทียมหรือดีกว่าปลูกฝิ่น โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริให้โครงการหลวงช่วยกันพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ ของราษฎรกลุ่มบ้านดังกล่าว พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรลำห้วยตอง และได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร โครงการหลวงจึงตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ขึ้นในปีพ.ศ. 2522 ในพื้นที่บ้านห้วยตอง ต่อมา พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยตองอีกครั้งทรงทอดพระเนตรแปลงสาธิตการปลูกพืชผักเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่นและการทำนาขั้นบันไดและ พ.ศ. 2527 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยข้าวลีบ และ บ้านทุ่งหลวงทรงทอดพระเนตรแปลงสาธิตการปลูกพืชผักและแปลงไม้ดอกเมืองหนาวชนิดต่างๆ ที่ปลูกโดยราษฎรชาวไทยภูเขา 


การดำเนินงานด้านการส่งเสริม/การวิจัย

    ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง มุ่งพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผักตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (IFOAM) และภายใต้ระบบมาตรฐาน อาหารปลอดภัย ได้แก่ ระบบมาตรฐานการเพาะปลูกพืชที่ดี(GAP) ระบบมาตรฐาน McDonald G.A.P. ส่งเสริมการปลูกไม้ผลและส่งเสริมการปลูกไม้ดอกเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่เกษตรกร มีจำนวนเกษตรกรที่เป็นสมาชิก จำนวน 411 ราย นอกจากนี้ยังส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์4 อย่างการปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของดินและการใช้สารชีวภาพในการป้องกันกำจัดโรคและแมลง พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเข้มแข็งของคนและชุมชนการพัฒนาสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ให้แก่ชุมชนชาวเขา ตลอดจนเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรที่สูงแก่นักเรียนนักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป


ลักษณะทั่วไปของพื้นที่

      ที่ตั้ง : บ้านห้วยตอง หมู่ที่ 10 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

      ภูมิประเทศ : พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีพื้นที่ราบบริเวณหุบเขา มีความสูงระดับน้ำทะเล ปานกลาง 800-1,400 เมตร และแหล่งน้ำที่สำคัญคือน้ำแม่เตียน, น้ำโป่งสมิตและน้ำแม่สะป๊อก ดินมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างดีมีปริมาณอินทรียวัตถุ ปานกลางมีค่า PH5.5-6.0

      การใช้ประโยชน์ที่ดิน : พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 47,712.42 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 75.07 พื้นที่ทำการเกษตร 14,756.05 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 23.22 และพื้นที่อยู่อาศัยและสาธารณะ 1,091.53 ไร่คิดเป็นร้อยละ 1.72 

      ภูมิอากาศ : มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 26.53 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 18.06 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนตลอดปี 1,249.12 มิลลิเมตร

      การคมนาคม : จากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวงเส้นทางอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มีระยะทาง 85 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ 1 ชั่วโมง 30 นาที


ข้อมูลหมู่บ้านและประชากร

    ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง มีพื้นที่รับผิดชอบ 101.67 ตารางกิโลเมตร (63,560ไร่) มีพื้นที่ส่งเสริม9 หมู่บ้าน (3 หย่อมบ้าน) แบ่งเป็นหมู่บ้านส่งเสริมตามแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวน 7 หมู่บ้าน 3 หย่อมบ้าน และหมู่บ้านนอกแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน (บ้านส่งเสริมรอง) จำนวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองมณฑาและบ้านแม่สะงะมีประชากรในพื้นที่ส่งเสริมรวม 1,356 ครัวเรือน 5,718 ราย นับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ และม้ง


การปลูกพืช

    ผลผลิตหลัก  ได้แก่ ผักกาดหอมห่อ กะหล่ำปลีผักกาดขาวปลีเบบี้ฮ่องเต้โอ๊คลีฟแดง โอ๊คลีฟเขียว

     ผลผลิตรอง ได้แก่ แคร์รอต มันเทศญี่ปุ่น คอสสลัดกระเทียมต้น ผักกาดกวางตุ้ง เบบี้แคร์รอตผักกาดหัว เป็นต้น   


โครงสร้างพื้นฐาน

    ถนน : เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก

    ไฟฟ้า :  มีระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ในหมู่บ้าน จำนวน 9 หมู่บ้าน

    น้ำ : ประปาภูเขา 9 หมู่บ้าน และมีแหล่งน้ำการเกษตร 9 หมู่บ้าน แต่พบว่าขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคในฤดูแล้ง เนื่องจากแหล่งต้นทุนธรรมชาติไม่เพียงพอ


สภาพเศรษฐกิจสังคม

    ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวงส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรอาชีพหลักคือการปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัยและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เช่น ผักกาดหอมห่อ กะหล่ำปลีผักกาดขาวปลีเป็นต้น รวมทั้งปลูกไม้ผล เช่น เสาวรสหวาน สตรอว์เบอร์รีองุ่นดำไร้เมล็ด เป็นต้น และพืชอื่นๆ เช่น การปลูกไม้ดอก แอสเตอร์สนช่อดาว เบญจมาศ อาชีพรอง คือ เลี้ยงสัตว์และงานหัตถกรรม

  รายได้เฉลี่ย  : เกษตรกรมีรายได้โดยเฉลี่ยต่อครอบครัว ประมาณ 111,658.00 บาทต่อครัวเรือนต่อปีรายได้ ส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร

 การรวมกลุ่มเกษตรกร : เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม ได้แก่กลุ่มทอผ้า กลุ่มออมทรัพย์กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกลุ่มผลิตสารชีวภัณฑ์ 

  บริการสาธารณสุข :   ใช้บริการโรงพยาบาลแม่วาง หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านหนองเต่า

  ความช่วยเหลือจากภาครัฐ : หน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่และองค์การบริหารส่วนตำบล

  อาชีพหลักและอาชีพรองของเกษตรกร :  เกษตรกรมีอาชีพหลัก คือ การปลูกพืชทางการเกษตร ได้แก่ ปลูกพืชผัก ปลูกไม้ผล และปลูกไม้ดอก อาชีพรอง คือ รับจ้างทั่วไป

 

 

อ้างอิง :



    


    



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้