โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดเพชรบุรี

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  1855 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  จังหวัดเพชรบุรี

    “…พื้นที่ของสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา ประกอบด้วย การชลประทานสร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้ และกิจกรรมอื่นๆ ตามความจำเป็น โดยจัดราษฎรที่ทำกินอยู่พื้นที่นี้แล้วให้เข้าเป็นสมาชิกโครงการด้วย…”

พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


พระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

      ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2528

            1. พื้นที่ของสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา ประกอบด้วย การชลประทานสร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้ และกิจกรรมอื่นๆ ตามความจำเป็น โดยจัดราษฎรที่ทำกินอยู่พื้นที่นี้แล้วให้เข้าเป็นสมาชิกโครงการด้วย

            2. พื้นที่ของสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดระบบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดให้ทั่วถึงกัน

      ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2532

              ด้านชลประทาน

                 1. สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นี้สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกได้เพิ่มขึ้นอีก เพราะยังมีพื้นที่ที่ไม่ได้ทำประโยชน์หากมีการบริหารน้ำและใช้น้ำอย่างมีระบบ รวมทั้งการจัดหาน้ำมาเพิ่มขึ้น เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยพลังน้ำ เพื่อนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปสู่ที่สูงบนเขาแล้วค่อยๆ ปล่อยน้ำเข้ามาสู่พื้นที่โครงการฯ โดยทำบ่อพักน้ำไว้ด้วย และจากบ่อพักน้ำนี้ควรทำร่องหรือฝายเล็กๆ ตามความเหมาะสมสำหรับปล่อยให้น้ำไหลลงตลอดเวลา ทั้งนี้ควรสำรองน้ำไว้ในบ่อพักนี้ ร้อยละ 10 

                2. บ่อพักน้ำแบบกระเบื้องโค้ง ซึ่งบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ได้ดำเนินการนั้น น่าจะทำบ่อลักษณะนี้เพิ่มขึ้นตามจุดต่างๆ เพื่อจะได้กระจายน้ำได้อย่างสมบูรณ์ 

                3. ให้พิจารณาการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กบริเวณปลายเขื่อนด้านซ้าย เหนือสวนสมเด็จฯ เพื่อส่งน้ำไปช่วยบริเวณพื้นที่ทำการเพาะปลูกพืชไร่แบบผสมผสาน อ่างดังกล่าวนี้จะมีลักษณะเป็นอ่างบริวารรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด

              ด้านการเกษตร

                1. กิจกรรมที่ดำเนินการในสวนสมเด็จฯ เช่น การเลี้ยงไก่บนบ่อปลา การปลูกพืชแบบผสมผสานระหว่างพืชสวน พืชไร่ ซึ่งมีไม้ผลเป็นหลัก การเพาะเห็ด การเลี้ยงผึ้ง การปลูกพืชสมุนไพร การปลูกไม้ตัดดอก บ่อแก๊สชีวภาพ การทำระบบวนเกษตรนั้น นับว่าดีแล้วและถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้น ควรที่จะให้นักวิชาการและประชาชนเข้ามาศึกษาดูงาน และขยายผลต่อไป อย่างไรก็ดีการขยายผลไปสู่ราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงนั้น ควรขยายในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยการจัดตั้งเป็นกลุ่มย่อยๆ และความสมัครใจของราษฎรเองก่อน พื้นที่ใดที่มีปัญหาและราษฎรไม่สมัครใจก็จะไม่มีการบังคับ ต่อเมื่อราษฎรเห็นตัวอย่างที่ดีแล้วก็จะเข้ามาร่วมเองในภายหลัง ส่วนราษฎรที่สมัครใจ เช่น หมู่บ้านชาวไทยมุสลิมนั้น ก็ให้ความช่วยเหลือเต็มที่

                2. สำหรับการเลี้ยงผึ้งโพรง ก็นับว่าเป็นรายได้เสริมแบบง่ายๆ ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง แต่ถ้าหากทำเป็นงานหลักอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากจะมีปัญหาเรื่องอาหารเลี้ยงผึ้งเพราะดอกไม้ที่จะเลี้ยงผึ้งไม่มีตลอดปี จึงควรค่อยๆ ทำการศึกษาต่อไปตามความเหมาะสม

                3. สวนสมเด็จฯ นี้สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกได้เพิ่มขึ้นอีกเพราะยังมีพื้นที่ที่ไม่ได้ทำประโยชน์หากมีการบริหารน้ำและใช้น้ำอย่างมีระบบ รวมทั้งการจัดหาน้ำมาเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ดี การจัดการเรื่องน้ำนี้จำเป็นต้องจัดที่ดินให้เรียบร้อยเสียก่อน

                4. สำหรับการทำระบบน้ำหยดนั้นต้องทดลองเป็นขั้นๆ ไป เพราะระบบนี้บางครั้งก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับการที่น้ำหยดมากไป หรืออาจน้อยไปและอาจใช้ได้เฉพาะพื้นที่บางพื้นที่ที่เหมาะสมเท่านั้น

                5. พื้นที่วนเกษตรขอให้รักษาสภาพป่าด้วยการปลูกป่าโดยใช้ไม้พันธุ์เดิมที่สามารถดำรงอยู่ได้ตามธรรมชาติและปลูกไม้ผลเพิ่มให้มากขึ้น และการปลูกไม้ผลนี้ควรขยายออกไปแทนที่ไม้ยูคาลิปตัส เพื่อให้ค่อยๆ ลดจำนวนลงและนำไปใช้เผาถ่าน เพราะไม้ยูคาลิปตัสที่ต่างประเทศปลูกเพื่อให้ทำฟืนและผลิตพลังไฟฟ้านั้น ไม่สู้จะได้ผลและต้องการบำรุงรักษาเช่นไม้ทั่วๆ ไปด้วย ดังนั้น จึงควรปลูกไม้ผลดีกว่า

      ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2539

            1. การทำการเกษตรในรูปแบบทฤษฎีใหม่จะให้ดีควรมีแหล่งน้ำไว้เติมได้ เผื่อน้ำไม่พอใช้ แต่รูปแบบที่ทำที่สวนสมเด็จฯ ไม่มีน้ำเติมแต่ก็ควรทำเอาไว้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง

            2. ให้ทำการศึกษาปริมาณน้ำมันในเม็ดมะกอกป่า และมะกอกน้ำ

            3. ให้สร้างสวนผลไม้พืชผักและพันธุ์ไม้ที่นกชอบตามป่าและชายเขา

            4. ให้ตั้งร้านค้าจำหน่ายผลผลิตการเกษตรและทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมเกษตร

      ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2541

            1. การทำทฤษฎีใหม่ ต้องสามารถยืดหยุ่นได้ สามารถปรับสัดส่วนการใช้พื้นที่ให้มีความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่มีระบบชลประทานเข้าถึง แปลงทฤษฎีใหม่ก็ทำบ่อเก็บน้ำให้เล็กลงแล้วเพิ่มที่ปลูกไม้ผล พืชไร่ พืชผักแทน ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทาน ก็ต้องทำบ่อเก็บน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพราะต้องรับน้ำฝนมาเก็บไว้ใช้ทำกินตลอดปี เป็นต้น 

            2. หลักการของทฤษฎีใหม่อยู่ที่ว่าในบริเวณที่ดินต้องมีหลายอย่าง คือ พืชผัก พืชผล ต้นไม้ต่างๆ โดยเฉพาะข้าว และบ่อเก็บน้ำ โดยจะดำเนินกิจกรรมการปลูกเพื่อการบริโภคในครัวเรือน และมีเครือข่ายเพื่อที่จะไปซื้อในส่วนที่ขาดแคลนหรือในส่วนที่ทำเองไม่ได้ เช่น เสื้อผ้า ยารักษาโรค เป็นต้น 

            3. ต้องทำบัญชีแสดงการลงทุน – ผลกำไร โดยคำนวณให้เห็นว่ามีความพอเพียงทั้งในส่วนของการบริโภคและการมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะต้องรวมเอาค่าใช้จ่ายที่ซ่อนเร้น เช่น ค่ารัฐสงเคราะห์ คำนวณรวมเข้าไปด้วย รายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้สามารถนำมาหมุนเวียน นำมาลงทุนเพิ่มเติมลงในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ต้องเป็นภาระให้กับส่วนรวมหรือทางราชการ 

            4. การบริหารการจัดการน้ำในบ่อเก็บน้ำ จะต้องมีน้ำเอาไว้ให้สามารถใช้ในการปลูกพืชได้ในช่วงหน้าแล้งหรือฝนทิ้งช่วง โดยจะปรับระบบการปลูกพืชให้เหมาะสมกับฤดูกาล เช่น หน้าฝนปลูกข้าว หน้าแล้งก็เปลี่ยนมาปลูกพืชตระกูลถั่วต่างๆ หรือพืชที่ต้องการน้ำน้อย เป็นต้น

            5. การจะนำเอาทฤษฎีใหม่ไปทำในพื้นที่ต่างๆ จะต้องศึกษาเรื่องของทรัพยากรน้ำด้วย ทั้งปริมาณน้ำฝนและระบบน้ำชลประทาน

            6. บริเวณแปลงสาธิตทฤษฎีใหม่ (ระบบน้ำฝน) ให้พิจารณาปรับปรุงสภาพพื้นที่แปลงพืชผักสวนครัวที่ปลูกหญ้าแฝกไว้รอบขอบแปลงให้มีความเหมาะสม เพื่อลดการสิ้นเปลืองที่ดินและหญ้าแฝก โดยให้ลดแถวแฝกหรือเพิ่มปริมาณที่ดินให้สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชชนิดอื่นได้มากขึ้น

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

    1. เป็นสถานที่เรียนรู้ฝึกอบรมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พันธุกรรมพืช ที่มีความหลากหลาย

    2. เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต

    3. เป็นสถานที่เรียนรู้ ฝึกอบรมการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และสมุนไพร

 

ประเภทโครงการ

    1. การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรม

    2. การพัฒนาอาชีพการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

    3. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพันธุกรรมพืช

 

สรุปลักษณะโครงการ 

    โครงการสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ดำเนินการศึกษาทดลองรูปแบบเกษตรยั่งยืน เพื่อศึกษาหารูปแบบการเกษตรที่เหมาะสม สำหรับสภาพพื้นที่โครงการและใกล้เคียง โดยมีแนวทางการปฏิบัติงานที่เรียบง่ายและประหยัด ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมาสามารถดำเนินงานปลูกข้าว พืชผัก พืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับและสมุนไพร ในรูปแบบผสมผสาน การลดต้นทุนการผลิต ที่จะเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป จากผลการดำเนินงาน ทำให้การพัฒนาพื้นที่แห้งแล้ง ดินเลว อับฝน กลับคืนสู่สภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ

 

ผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบันโดยสรุป

    1. กิจกรรมด้านการเกษตร การดำเนินงานเป็นการศึกษาทดลอง เพื่อหารูปแบบการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เกษตรกรในบริเวณรอบโครงการหรือผู้ที่สนใจสามารถนำไปปรับใช้ได้ เช่น

        1.1 ระบบการปลูกพืชโดยมีไม้ผลเป็นหลัก เป็นการจัดระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน ที่มีอายุลดหลั่นกันเพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนทั้งปี รวมทั้งการจัดการระบบปลูกข้าวในที่นา และจัดระบบปลูกพืชไร่

        1.2 ระบบการทำฟาร์มแบบผสมผสาน เป็นรูปแบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ และเลี้ยงปลา 

        1.3 เกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ เป็นการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อทำการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการปลูกพืชไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวในฤดูฝน และมีการเลี้ยงปลาในสระน้ำ 

        1.4 การลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นการนำเอาพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลง มาใช้ร่วมกับการใช้กับดักล่อแมลง และการใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ เพื่อช่วยลดอัตราการระบาดของแมลงในพืช 

        1.5 การเพาะเห็ดจากวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร ได้ศึกษาทดลองเพาะเห็ดนางฟ้า นางรม และเห็ดฟางจากวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวโพด ฟางข้าว ถั่วเหลือง ผักตบชวา กล้วย และใบหญ้าแฝก เป็นต้น

        1.6 การใช้ประโยชน์หญ้าแฝกในระบบการปลูกพืช ได้นำหญ้าแฝกมาทดลองปลูกร่วมกับพืชไร่ ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอก เพื่อช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดินบริเวณแปลงปลูก พร้อมกับมีการตัดใบมาใช้คลุมแปลงเพื่อช่วยลดอัตราการระเหยน้ำบริเวณหน้าดิน 

    2. กิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพันธุกรรมพืช เช่น กิจกรรมวนเกษตร การรวบรวมพันธุ์ไม้หอม การใช้ประโยชน์ของพืชสมุนไพร การรวบรวมพืชผักพื้นบ้าน การรวบรวมพันธุ์ไม้ย้อมสี เป็นต้น

    3. กิจกรรมแปรรูปผลิตผลด้านการเกษตรและสมุนไพรไทยและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูป ได้ดำเนินการนำพืชสมุนไพรไทยที่มีอยู่ในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพที่ดีและเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการสร้างรายได้ และประชาชนทั่วไปสามารถนำองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรไทยไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน

    4. กิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและขยายผล ได้ดำเนินการจัดตั้งเป็นศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และถ่ายทอดองค์ความรู้ เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆภายในสถานที่ และนอกสถานที่ ให้กับเกษตรกร นักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจ และการขยายผลกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จสู่ประชาชน

 

 

อ้างอิง :

          

                 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้