โครงการปลานิลพระราชทาน

Last updated: 30 ส.ค. 2564  |  5204 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการปลานิลพระราชทาน

“…ให้กรมประมงรักษาพันธุ์แท้ไว้ในสวนจิตรลดา ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าปลาดังกล่าวมิได้กลายพันธุ์ไป ขอให้เร่งรัดเรื่องพันธุกรรม ถ้าหาพ่อแม่พันธุ์ไม่ได้ก็เอาที่สวนจิตรลดา…”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

    โครงการปลานิลพระราชทาน เป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจาก โครงการปลาหมอเทศ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2495 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทดลองเลี้ยงปลาหมอเทศที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นำเข้ามาน้อมเกล้าฯถวายที่สระน้ำในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน และมีพระราชดำริให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ เนื่องจากเป็นปลาน้ำจืดที่เลี้ยงง่าย เติบโตและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว

    จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วราชอาณาจักร เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานลูกปลาหมอเทศที่ทรงเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ไว้ไปปล่อยขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ มีปลาเป็นอาหารโปรตีนบริโภค ยกระดับภาวะโภชนาการ เป็นประโยชน์แก่การดำรงชีพของประชาชนในชนบททั่วประเทศ

    อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการเลี้ยงปลาหมอเทศไปสู่ประชาชน ปรากฏว่าไม่เป็นที่นิยมรับประทานแพร่หลายนัก เนื่องจากเป็นปลาชนิดใหม่ที่นำเข้ามาในประเทศไทย คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับกลิ่นและรสชาติ ปัจจุบันยังมีการเลี้ยงปลาหมอเทศอยู่ในบางพื้นที่ ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เป็นต้น

    เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ขณะทรงดำรงพระยศเป็น มกุฎราชกุมาร ได้น้อมเกล้าฯ ถวายลูกปลาสายพันธุ์ใกล้เคียงกับปลาหมอเทศ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tilapia nilotica จำนวน 25 คู่ ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปเลี้ยงไว้ที่บ่อปลา ในบริเวณสวนจิตรลดา ปลาดังกล่าวได้เจริญเติบโตขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

    เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2509 ได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” โดยทับศัพท์จากชื่อวิทยาศาสตร์ คือ ออกเสียงตามพยางค์ต้นของชื่อพันธุ์ปลา “Nil” จาก “Nilotica” และได้พระราชทานพันธุ์ที่ทรงเพาะเลี้ยงกว่า 10,000 ตัว แก่กรมประมง เพื่อนำไปให้สถานีประมงจังหวัดต่างๆ เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปเลี้ยงพร้อมกับปล่อยลงในแหล่งน้ำทั่วไปให้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชุมชนสำหรับการบริโภคต่อไป

    นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริให้กรมประมงรักษาสายพันธุ์ปลานิลแท้ เมื่อครั้งได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวาย ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าปลาที่พระราชทานไปขยายพันธุ์ต้องเป็นพันธุ์แท้ ซึ่งถ้ากรมประมงหาพันธุ์แท้ไม่ได้ก็ให้มาเอาที่สวนจิตรลดาและมีพระราชประสงค์ให้กรมประมงปรับปรุงพันธุ์ปลานิลให้ดีขึ้น ให้มีตัวโต มีเนื้อมาก ดังนั้น ปลานิลที่เพาะเลี้ยงในสวนจิตรลดา จึงมีชื่อเรียกว่า “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา” เพราะเป็นพันธุ์แท้นั่นเองได้แก่ ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 1, ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 2 และ ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 3

    ปัจจุบันสามารถพบปลานิลได้ในแหล่งน้ำทุกภาคของประเทศไทย และพบได้ในตลาดสดของทุกจังหวัด แม้แต่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลทุรกันดาร ก็ยังพบว่ามีการเพาะเลี้ยงปลานิลอย่างแพร่หลาย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้น เป็นผลให้ปลานิลเป็นที่รู้จักทั่วไป ประชาชนทั่วประเทศได้ประโยชน์นานัปการ เช่น ใช้เป็นอาหาร ใช้เพาะเลี้ยงเพื่อการค้า ใช้ในการทดลอง เป็นตัวอย่างในการศึกษาชีววิทยาของปลา และเป็นปลาชนิดหนึ่งที่กรมประมงส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงและปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ เป็นจำนวนมากสมดังพระราชประสงค์ที่ทรงต้องการให้พสกนิกรมีอาหารโปรตีนบริโภคอย่างทั่วถึงไม่ขาดแคลน

    จากปลานิลจำนวน 50 ตัว ในสระน้ำสวนจิตรดาสู่ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาที่กรมประมงนำไปขยายผลสู่ประชาชนไปแล้วกว่า 1,500 ล้านตัว คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,700 ล้านบาท และมีการสนับสนุนพันธุ์ปลานิลให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องกว่า 1 ล้าน ตัว/ปี เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ ช่วยยกระดับภาวะโภชนาการและสร้างอาชีพ รายได้ ให้แก่ประชาชนอย่างแพร่หลายและกว้างขวางในปัจจุบัน 

 

อ้างอิง :

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้