โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  7979 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่

    “ ...ให้พิจารณาดำเนินการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง พื้นที่จากหมู่บ้านศาลาปางสักไปจดขอบอ่างเก็บน้ำแม่กวง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้ให้ราษฎรทำกินเป็นการชั่วคราว ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (สทก.) แต่ยังมีการบุกรุกของราษฎร ดังนั้น ควรจะได้มีการปรับปรุงให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร มีความชุ่มชื้นสามารถทำกินได้จะได้ไม่ทำการบุกรุกต่อไป รวมทั้งยังสามารถจัดเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนได้อีกด้วย... ”

พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2535

    เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี พลโทไพโรจน์ จันทร์อุไร แม่ทัพภาคที่ 3 นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายยุทธ กิ่งเกตุ อธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการ 3 สำนักงาน กปร.เข้าเฝ้ารับเสด็จและถวายงาน ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริ...

    เนื่องจากบริเวณพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับการพัฒนา ทำให้สภาพป่าทึบ พื้นที่โล่งน้อย ดังนั้น การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน อาจจะไม่ได้ผลนัก เนื่องจากพื้นที่มีร่มเงามาก แต่ให้ทดลองดูอาจจะมีหญ้าแฝกที่ทนร่มเงาบ้าง โดยให้มีการปลูกหญ้าแฝกผสมกับพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง CHECK DAM และสำหรับพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ ที่มีความชุ่มชื้นสูง ให้ปลูกต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบ เช่น ต้นตะแบก สะเดา

    ให้พิจารณาดำเนินการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง พื้นที่จากหมู่บ้านศาลาปางสัก ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด ไปจดขอบอ่างเก็บน้ำแม่กวง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้มีการดำเนินการ ให้ราษฎรทำกินเป็นการชั่วคราว ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (สทก.) แต่ยังมีการบุกรุกของราษฎร ดังนั้น ควรจะได้มีการปรับปรุงให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร มีความชุ่มชื้นสามารถทำกินได้จะได้ไม่ทำการบุกรุกต่อไป รวมทั้งยังสามารถจัดเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนได้อีกด้วย และทรงรับสั่งให้กรมป่าไม้ รับไปดำเนินการเกี่ยวกับการปรับปรุงและพัฒนาการปลูกป่าไม้ โดยให้ปลูกไม้ที่ให้ความชุ่มชื้นเป็นหลัก ให้พยายามปลูกไม้ที่ไม่ผลัดใบ สำหรับพื้นที่ใดที่ไม่สามารถปลูกพืช ดังกล่าวได้ให้จัดหาพันธุ์ไม้ตามความเหมาะสมตามสภาพในพื้นที่ รวมทั้งอาจพิจารณาปลูกไม้ยูคาลิปตัสก็ได้ และให้กรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำ โดยใช้น้ำจากแม่น้ำลาย และให้ทำเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ในพื้นที่จำเป็น และทำ CHECK DAM เป็นจุด เพื่อให้เกิดความชื้นเช่นเดียวกันดังประสบความสำเร็จมาแล้วจากการทดลองที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ สำหรับหมู่บ้านหรือราษฎรที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว ก็ควรพิจารณาให้อยู่อาศัยหรือทำกินต่อไป โดยให้ทางเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ควบคุมดูแลไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม แต่ไม่ควรจะเกิน 100 ครอบครัว ทั้งนี้จะต้องทำการสำรวจผู้ที่อยู่อาศัย และทำกินอยู่ก่อนแล้วไว้ และอย่าให้มีการเข้ามาบุกรุกเพิ่มขึ้นอีก

    ต่อมาเมื่อ 21 มี.ค.2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดย พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี พลโทยิ่งยศ โชติพิมาย แม่ทัพภาคที่ 3 นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร อธิบดีกรมชลประทาน นายผ่อง เล่งอี้ อธิบดีกรมป่าไม้ นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการ 3 สำนักงาน กปร.เข้าเฝ้ารับเสด็จและถวายงาน ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาขยายขอบเขตพื้นที่โครงการ ให้ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวง ตั้งแต่เหนือเขื่อนเก็บกักน้ำแม่กวง ขึ้นไป โดยให้แบ่งพื้นที่ดำเนินการตามโครงการออกเป็น 3 ระยะ คือ

    ระยะที่ 1 พื้นที่การดำเนินการมีขอบเขตทางด้านทิศเหนือ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่อง มาจากพระราชดำริ ขึ้นไปจนจรดขอบอ่างเก็บน้ำแม่กวง เนื้อที่ประมาณ 30,000 ไร่ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่

    ระยะที่ 2 พื้นที่ดำเนินการมีขอบเขตต่อจากระยะที่ 1 ขึ้นไปทางทิศเหนือจนจรดเขต อำเภอแม่แตง และอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 70,000 ไร่ โดยให้ดำเนินการในปีนี้

    ระยะที่ 3 พื้นที่ที่ดำเนินการได้แก่ พื้นที่ส่วนที่เหลือในเขตลุ่มน้ำแม่กวง ด้านตะวันออกอ่างเก็บน้ำแม่กวงทั้งหมด จำนวน 245,000 ไร่ มีบริเวณต่อจากขอบเขตระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไปทางด้านตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันกำแพง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง


วัตถุประสงค์

    1. ป้องกันรักษาป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อยู่ ให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ไม่ให้ถูกทำลาย ตลอดจนรักษาสภาพแวดล้อม และฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายจนเสื่อมโทรมให้คืนสู่สภาพป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม อีกทั้งป้องกันมิให้มีสารพิษปนเปื้อน เป็นอันตรายแก่ราษฎรในแหล่งน้ำ

    2. แก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ทำกิน โดยจัดพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่โครงการฯ ตลอดจนการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในด้านแหล่งน้ำและที่ดินทำกิน

    3. พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่โครงการให้สูงขึ้น สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามความเหมาะสมของท้องถิ่น

    4. นำผลการศึกษาและวิจัยของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เหมาะสมมาขยายผลในการพัฒนาและให้บริการแก่ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ


เป้าหมาย

    1. ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

    2. ราษฎรสามารถดำรงชีวิตและใช้ประโยชน์จากป่า ได้ย่างเกื้อกูลและยั่งยืน

    3. ป่าไม้มีสภาพที่อุดมสมบูรณ์ มีสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เหมาะสม

    4. มีแหล่งน้ำในการอุปโภค บริโภค ที่เพียงพอ มีคุณภาพดี


ผลที่คาดว่าจะได้รับ

    1. สามารถป้องกันป่าไม่ที่มีสภาพสมบูรณ์อยู่แล้ว ให้คงสภาพที่สมบูรณ์ต่อไป

    2. สามารถฟื้นฟูปรับปรุงและพัฒนาป่าไม้ที่เสื่อมโทรม ให้เป็นสภาพป่าที่สมบูรณ์ต่อไป

    3. สามารถทำการจัดและพัฒนาที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรได้ ในเขตพื้นที่โครงการฯ สามารถทำการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม ทั้งในด้านการเกษตร และนอกการเกษตรให้แก่ราษฎร เพื่อการครองชีพที่ดีขึ้น

 

 

อ้างอิง :

    

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้