โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  13478 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

    “...ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลองที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเองต่อไป...”

พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525

    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อกำเนิดจากการที่ได้รับพระราชดำริเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2525 พระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลองที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเองต่อไป

    โดยทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนคงความชุ่มชื้นเอาไว้เป็นประโยชน์อย่างที่ 4 และ พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก โดยต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารและ ปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎร ที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆในศูนย์ฯ แล้วนำไปใช้ปฏิบ้ติอย่างได้ผลต่อไป ดังมีพระราชดำริว่า "ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" หรืออีกนัยหนึ่งเป็น "สรุปผลการพัฒนา" ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้"

 

วัตถุประสงค์

    1. ดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริที่พระราชทานไว้

    2. ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย เพื่อหาแนวทางและวิธีการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมกับ ภูมิสังคมตามแนวพระราชดำริ พร้อมทั้งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    3. เพื่อแสดงตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาที่สมดุล มั่นคงและยั่งยืน

    4. เพื่อนำองค์ความรู้จากการขยายผลทั้งทางตรงและจากเครือข่ายที่ประชาชนสามารถนำไปเป็นแนวทางการประกอบอาชีพ

    5. เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานโครงการไปสู่สาธารณชน

 

พื้นที่ดำเนินการ

    ศูนย์ ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่โครงการ ประมาณ 8,500 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวน แห่งชาติ “ป่าขุนแม่กวง” ลักษณะภูมิประเทศ ทั่วไปเป็นป่าเขา ทิศเหนือเป็นป่าไม้เบญจพรรณพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ เป็นป่าที่มีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรมซึ่งใช้เป็นพื้นที่ในการศึกษาพัฒนา เกษตรกรรมด้านต่าง ๆ ซึ่งพื้นที่เป้าหมายในการ ดำเนินงานและศูนย์สาขา มีดังนี้

    1. พื้นที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ดำเนินงานและการใช้ประโยชน์ที่ดินในศูนย์ฯ ได้พิจารณาจากแนวพระราชดำริ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

         พื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำฝน ประกอบด้วย พื้นที่ตอนบนที่มีความลาดชันมากและไม่สามารถนำระบบชลประทานเข้าไปในพื้นที่ ได้ และพื้นที่บางส่วนทางตอนล่างที่รับน้ำจากอ่างเก็บ น้ำที่ 1 เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอใส่ในร่องห้วยบางส่วนของพื้นที่ โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกมีการสร้างฝายต้นน้ำเพื่อใช้เป็นพื้นที่ที่พัฒนา ป่าไม้ด้วยฝายต้นน้ำลำธารที่รองรับน้ำฝน มีการปลูกป่าเฉพาะในพื้นที่ถูกทำลายหรือความหนาแน่นของป่าน้อยมาก บำรุงป่าไม้โดยการตัดต้นไม้ที่มีลักษณะไม่ดีออก ป้องกันการลักลอบการตัดไม้และขุดหน่อไม้ ตลอดจนจัดระบบป้องกันไฟป่า พื้นที่บางส่วนที่ติดกับอ่างเก็บน้ำที่ 2 ถูกใช้สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เพื่อพัฒนาต้นน้ำรวมพื้นที่ 6,000 ไร่ 

         พื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยระบบน้ำชลประทาน พื้นที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ที่สามารถนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่ 1 มาใช้ในพื้นที่ได้ โดยการปล่อยน้ำผ่านท่อน้ำจากสันเขา ในร่องห้วยมีการสร้างฝายต้นน้ำลำธารเป็นระยะ เพื่อกักเก็บน้ำเป็นช่องเพื่อเพิ่มระดับน้ำผิวดินและใต้ดิน และมีการขุดคลองใส้ไก่ขนาดเล็ก ส่งน้ำออกไปสองข้างของฝายต้นน้ำลำธาร เพิ่มความชื้นให้กระจายออกทั่วพื้นที่ ทำให้ฝายต้นน้ำดังกล่าว มีสภาพเป็นแนวกันไฟเปียกที่ลดความรุนแรงและการลุกลามของไฟ มีการปลูกเสริมป่าและระบบบำรุงและป้องกันรักษาป่า ตลอดจนจัดทำทุ่งหญ้าเพื่อเป็นอาหารสัตว์ป่า ปลูกไม้ที่ให้ผลเป็นอาหารสัตว์ป่า พร้อมทั้ง ปลูกไม้ไผ่ ไม้ผลในร่ม พริกไทย หวาย และมะก่อหลวง(มะคาเดเมีย) ผสมในป่า กล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบการพัฒนาป่าไม้แบบเข้มข้นเพื่อประโยชน์แบบอเนกประสงค์ รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 800 ไร่  

         พื้นที่พัฒนาการเกษตร เป็นพื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำ โดยทดสอบการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมและผสมผสานกับการปลูกป่าในรูปวนเกษตร ตลอดจนหารูปแบบการเพาะปลูกที่เหมาะสมกับสังคมชนบทในภาคเหนือตอนบนและ อนุรักษ์ดินและน้ำ ประกอบด้วย การทดสอบปลูกข้าวและพืชไร่อื่นๆ ไม้ผล สมุนไพร พืชผักพื้นบ้าน ไม้ดอกไม้ประดับ พืชเพื่ออุตสาหกรรมพื้นบ้าน ตลอดจนเป็นแหล่งสะสมพันธุกรรมพืช ทั้งไม้พื้นบ้านและไม้ที่นำเข้าจากแหล่งอื่นทั้งในและนอกประเทศ รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 600 ไร่  

         พื้นที่พัฒนาการปศุสัตว์ ใน ตอนล่างของพื้นที่ที่ซึ่งอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำที่ 7 ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ใช้ในกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ เป็นการเลี้ยงสัตว์ในสภาพป่าโปร่ง เพื่อเพิ่มคุณค่าของป่า ทั้งหารูปแบบการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพป่าไม้ในภาคเหนือตอนบน ทั้งในแง่ของการผลิตอาหารและเพิ่มประสิทธิภาพของป่าในรูปของการเจริญเติบโต ของไม้ป่า และการกระจายของลูกไม้ สัตว์ที่เลี้ยงส่วนใหญ่ คือ วัวนม นอกจากนี้ยังมี ไก่ เป็ด ห่าน และสุกร รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 70 ไร่ 

         พื้นที่อ่างเก็บน้ำและพัฒนาการประมง อ่าง เก็บน้ำในศูนย์ฯ มีทั้งหมด 7 อ่าง ประกอบด้วยอ่างใหญ่ 3 อ่าง ถูกสร้างมาเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนั้นใช้ในกิจกรรมการทดลองการ เลี้ยงปลาในอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนศึกษาการจัดรูปบริหารแหล่งน้ำเพื่อการประมง โดยเฉพาะการจัดให้มีการบริหารจับปลาของชาวบ้านหมู่บ้านปางเรียงเรือ และยังเป็นที่พัมผ่อนหย่อนใจของประชาชนที่เข้ามาตกปลา รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 400 ไร่

    2. ศูนย์สาขาที่ 1 โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หางดง จ.เชียงใหม่

    3. ศูนย์สาขาที่ 2 โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

    4. ศูนย์สาขาที่ 3 โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

    5. ศูนย์สาขาที่ 4 โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

    6. ศูนย์สาขาที่ 5 ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

 

ประโยชน์ที่ได้รับ

    1. สามารถพัฒนาแหล่งน้ำให้มีเพียงพอสำหรับสนับสนุนงานศึกษาการพัฒนาด้านต่างๆ ของศูนย์ฯ และเพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของราษฎรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ

    2. สามารถทำการพัฒนาป่าที่เหมาะสมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำภาคเหนือ การป้องกันรักษาป่า ควบคุมไฟป่าและการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ

    3. สามรถทำการพัฒนาวิธีการและรูปแบบการอนุรักษ์และน้ำที่เหมาะสมกับภูมิประเทศภาคเหนือตอนบน

    4. สามรถทำการทดสอบการปลูกพืชต่างๆ เหมาะสมตลอดการรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชที่หายากทั้งพืชสวน พืชอุตสาหกรรม พืชผัก พืชไร่ ข้าว และเห็ด ในพื้นที่ต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงพร้อมทั้งคัดเลือกพันธุ์เพื่อบริการสู่เกษตรกร

    5. สามารถพัฒนาการเลี้ยงโคนม พืชอาหารสัตว์ รวมทั้งสัตว์ปีก ในสภาพที่เหมาะสมกับพื้นที่

    6. สามารถพัฒนาการเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์กบและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดต่างๆที่พบในประเทศไทย

    7. สามรถทำการพัฒนาแหล่งน้ำ เทคนิค และการส่งเสริมการเลี้ยงปลา แก่เกษตรกรให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง

 

 

อ้างอิง :

    

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้