โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  5349 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

    “...ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง และพัฒนาดินอินทรีย์และดินที่มีปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่พรุ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรรวมทั้งแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนา ทั้งทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการเกษตรอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จให้พื้นที่อื่นๆ...”

    พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2524

    เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย แสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภูมิสังคมของท้องถิ่น และเป็นสถานที่ที่นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน ใช้แลกเปลี่ยน สื่อสาร และถ่ายทอดความรู้ เป็นแบบจำลองของพื้นที่ที่มีการพัฒนาแบบผสมผสานทุกสาขาในลักษณะสหวิทยา และมีการบริหารที่เป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน มีการประสานการดำเนินงานที่มีเอกภาพ เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในลักษณะของ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต”รวมทั้งนำผลสำเร็จของโครงการฯ ขยายผลไปสู่ประชาชนในหมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และประชาชนผู้สนใจทั่วไป โดยได้กำหนดแผนการศึกษาดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 4 แผนงาน ได้แก่ 1) แผนงานศึกษา ทดลองวิจัย ตามแนวพระราชดำริ 2) แผนงานขยายผลการพัฒนา 3) แผนงานฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4) แผนงานบริหารจัดการ

 

วัตถุประสงค์

    1. เพื่อสนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง

    2. เพื่อศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย และ สำรวจ หาข้อมูลเกี่ยวกับป่าไม้ในป่าพรุ และป่าอื่นๆ ในพื้นที่ภาคใต้ มาใช้ในการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนที่อยู่อาศัยรอบๆ ป่าพรุ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

    3. เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าพรุพรุ และป่าอื่นๆ ในพื้นที่ภาคใต้ให้คงอยู่ตลอดไป

    4. เพื่อสาธิตและเผยแพร่งานด้านการประโยชน์ไม้และของป่าพรุในป่าพรุพรุ และป่าอื่นๆในพื้นที่ภาคใต้ต่อสู่สาธารณชน

    5. เพื่อผลิตกล้าไม้ แจกจ่ายสู่ราษฎร นำไปปลูกขยายผลในพื้นที่ของราษฎร


พื้นที่ดำเนินโครงการ

    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง และบ้านโคกสยา ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส ประกอบด้วยพื้นที่ดำเนินการ ดังนี้

    1. พื้นที่บริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เนื้อที่ 1,740 ไร่ เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน แปลงทดลองในที่ลุ่ม บนที่ดอนสวนยางเขาสำนัก และอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน

    2. พื้นที่พรุในจังหวัด เนื้อที่ 261,860 ไร่ แบ่งป่าพรุ 3 เขต คือ เขตสงวน , เขตอนุรักษ์ และเขตพัฒนา

    3. พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ มีทั้งหมด 11 หมู่บ้าน ได้รับการส่งเสริมด้านการเกษตรและพัฒนาอาชีพให้สามารถ พึ่งตนเองได้

    4. ศูนย์สาขา 4 สาขา คือ โครงการสวนยางตันหยง เนื้อที่ 15.8 ไร่ , โครงการพัฒนาหมู่บ้านปีแนมูดอ เนื้อที่ 135 ไร่ , โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์เกษตรมูโนะ เนื้อที่ 1,500 ไร่ , โครงการหมู่บ้านโคกอิฐ - โคกใน และบ้านยูโย เนื้อที่ 30,065 ไร่

    5. พื้นที่ที่มีพระราชดำริให้ดำเนินการ

 

ผลการดำเนินงาน

    ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ดำเนินงานในลักษณะผสมผสานตามแนวพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อนจากสภาพปัญหาต่างๆ ให้ใช้ประโยชน์จากที่ทำกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวทางที่ได้รับพระราชทานพระราชดำริไว้ดังนี้

    1. การศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย

        เพื่อศึกษา และพัฒนาดินในพื้นที่พรุ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและด้านอื่นๆ ตลอดจนการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การเกษตรอุตสาหกรรม หาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เป็นแนวทางและตัวอย่างของผลสำเร็จให้แก่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป รวมทั้งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างนักวิชาการ นักปฏิบัติและเกษตรกรมาผสมผสานทางวิชาการถ่ายทอดประสบการณ์

    2. การพัฒนาแบบผสมผสาน

        ผลสำเร็จที่ได้รับจากการศึกษาค้นคว้า ทดลอง ภายในศูนย์ฯ นำไปขยายผลเพื่อการพัฒนา โดยจัดทำในรูปแบบของการถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่พื้นที่ของเกษตรกรในลักษณะการพัฒนาแบบผสมผสานกันทั้งด้านความรู้ การดำเนินงาน และการบริหารอย่างเป็นระบบ

    3. ประสานงานระหว่างส่วนราชการ

         เป็นการประสานงาน ประสานแผนการบริหารจัดการระหว่างกรม กอง และส่วนราชการให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยยึดกรอบในการปฏิบัติงาน ตามแผนแม่บทโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ โดยบางหน่วยงานดำเนินงานมาตลอดตั้งแต่เริ่มโครงการ บางหน่วยสิ้นสุดภาระกิจไปแล้ว และบางหน่วยเพิ่งเข้ามาร่วมงานใหม่

    4. ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ

        เป็นศูนย์รวมของการศึกษา ทดลอง และสาธิตที่ได้รับผลสำเร็จในทุกๆ ด้าน ในลักษณะของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานรูปแบบต่างๆ เช่น โครงการแกล้งดิน อันเป็นรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด การเกษตรทฤษฎีใหม่ การปรับปรุงน้ำเปรี้ยว นิทรรศการป่าพรุ การเลี้ยงสัตว์แบบพื้นบ้าน เป็นต้น

 

ประโยชน์ที่ได้รับ

    1. ศึกษาหาแนวทางการปลูกและฟื้นฟูสภาพป่าพรุที่เสื่อมโทรม

    2. เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ แหล่งเก็บเมล็ดพันธุ์ และ แหล่งค้นคว้าทางวิชาการป่าไม้

    3. ขยายผลงานการวิจัย ไปสาธิตขยายผล ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ที่เป็นสภาพป่าพรุ

    4. ให้มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางของการวิจัย ค้นคว้า บริการ และถ่ายทอดความรู้ ด้านป่าพรุ สู่ประชาชนนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ และ ผู้สนใจ

    5. ดำเนินการศึกษาทดลองวิจัย การฟื้นฟูและบำรุงรักษาพื้นที่ป่าพรุ การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ การส่งเสริมใช่ประโยชน์จากป่า และพันธุ์ไม้ป่าต่างๆ

 

 

 อ้างอิง :

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้