โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  3547 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี

“ ปัญหาสำคัญ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสียกับขยะ ได้ศึกษามาแล้วเหมือนกัน ทำไม่ยากนัก ในทางเทคโนโลยีทำได้ ในเมืองไทยเองก็ทำได้ หาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาแล้วในเมืองไทยเองก็ทำได้หรือจะจ้าง บริษัทต่างประเทศมาก็ทำได้ นี่แหละปัญหาเดียวกัน เดี๋ยวนี้กำลังคิดจะทำ แต่ติดอยู่ที่ที่จะทำ ”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533 ให้มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับขยะมูลฝอยและน้ำเสียในชุมชน ซึ่งมีผลต่อการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีการทางธรรมชาติและรักษาธรรมชาติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินงานศึกษาวิจัยตามโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา โดยดำเนินการในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ณ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ประมาณ 642 ไร่

 

วัตถุประสงค์

    1. เพื่อศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการกำจัดขยะและการบำบัดน้ำเสียชุมชนและนำผลไปพัฒนาเทคโนโลยีการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียพร้อมทั้งสร้างรูปแบบการใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมักจากการกำจัดขยะและน้ำเสียที่บำบัดแล้วรวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ

    2. เพื่อศึกษาวิจัยทางด้านสังคม อันได้แก่ รูปแบบของสังคมการประชาสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมศึกษาของโครงการฯ และนำผลไปประยุกต์ใช้สร้างแบบจำลองทางสังคม การประชาสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อมศึกษา ในแยกขยะก่อนทิ้งและการบำบัดน้ำเสียขั้นต้น ก่อนระบายลงสู่ท่อระบายน้ำ

    3. เพื่อสร้างคู่มือและสื่อเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ ในการเผยแพร่เทคโนโลยีที่ได้จากการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์การกำจัดขยะและการบำบัดน้ำเสียชุมชน และการจัดอบรม ประชุม สัมมนา ให้ความรู้แก่ประชาชนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงาน

      ด้านการบำบัดน้ำเสีย

         1. บำบัดน้ำเสียโดยใช้บ่อบำบัด 5 บ่อ

            - บ่อตกตะกอน 1 บ่อ

            - บ่อผึ่ง 3 บ่อ

            - บ่อปรับสภาพ 1 บ่อ

            (แต่ละบ่อใช้เวลาการบำบัด 7 วัน)

         2. ระบบที่ใช้พืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ได้แก่ หญ้าสตาร์ หญ้าคาลล่า หญ้าโดสครอส และพืชอื่น ๆ เช่น ธูปฤาษี กกกลม (กกจันทรบูร) หญ้าแฝก เป็นตัวกรองโดยให้น้ำเสียไหลผ่านแปลงหญ้ากรองน้ำเสียใช้เวลา 5 วัน และปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง 2 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ในดินได้ปรับสภาพโดยต้องตัดหญ้าเพื่อหญ้ามีอายุครบ 45 วัน

         3. ะบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม มีลักษณะการบำบัดคล้ายกับระบบที่สอง ซึ่งจะใช้พืชน้ำ 2 ชนิด คือ กกกลม (กกจันทรบูร) และธูปฤษี โดยต้องตัดต้นพืชเมื่ออายุครบ 60 วัน

         หมายเหตุ : การบำบัดน้ำเสียในขั้นตอนสุดท้ายของทั้ง 3 ระบบ จะปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วลงสู่ป่าชายเลนและไหลสู่ทะเล

         4. บำบัดด้วยแปลงพืชป่าชายเลน โดยให้น้ำทะเลไหลเข้าสู่แปลงป่าชายเลนในช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุดในรอบวัน และปิดประตูระบายน้ำเพื่อขังน้ำทะเลไว้ แล้วปล่อยน้ำเสียเข้าไปในแปลงในอัตราส่วน 1 ต่อ 16 (น้ำเสีย 1 ส่วน ต่อน้ำทะเล 16 ส่วน) วิธีนี้เป็นกระบวนการที่อาศัยการขึ้นลงของน้ำทะเลธรรมชาติ การเจือจาง การเร่งการตกตะกอน พืชจะช่วยในการดูดสารอาหารจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ของจุลินทรีย์ในดิน เพื่อไปใช้ในการสร้างความเจริญเติบโตของพืชป่าชายเลน เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียที่ดำเนินการตามแนวพระราชดำรินี้คือใช้ธรรมชาติร่วมธรรมชาติ โดยท้องถิ่นสามารถนำไปดำเนินการได้ ซึ่งจะสามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย

      ด้านการกำจัดขยะโดยใช้กล่องคอนกรีต

         การกำจัดขยะโดยใช้กล่องเป็นชั้น ๆ โดยพื้นที่รองด้วยชั้นทรายละเอียดหนา 20 ชม. ใส่ขยะที่คัดแยกให้มีน้ำหนัก 660 กก. ปิดทับด้วยดินแดงหรือดินธรรมดา น้ำหนัก 210 กก. ส่วนชั้นสุดท้ายใส่ขยะ 670 กก. แล้วปิดทับด้วยดินแดงหรือดินธรรมดา น้ำหนัก 730 กก. หรือหนา 35 ซม. รดน้ำเพิ่มความชื้นจำนวน 100 ลิตร โดยการดูแลเพื่อเร่งขยายจุลินทรีย์ในการย่อยสลายของขบวนการการหมักจะต้องรดน้ำทุก ๆ 7 วัน ครั้งละ 30 ลิตร เพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ขยะ ถ้าแยกขยะสมบูรณ์ใช้เวลา 20 วัน จะได้ปุ๋ยหมักจากขยะและทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อลดความชุ่มชื่นลง

      เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2545 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และเลขาธิการ กปร. สรุปความว่า ให้ประสานบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าไปศึกษาดูงาน ณ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ และพิจารณาสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯตามความเหมาะสม ซึ่งสำนักงาน กปร. ได้ประสานบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการปลูกเสริมป่าชายเลนบริเวณด้านหลังโครงการฯ (แปลง FPT พิเศษ) จำนวน 475 ไร่ ประกอบด้วย 

         - ปลูกป่าชายเลน (เลนงอกใหม่) บริเวณหลังโครงการฯ เนื้อที่ 200 ไร่

         - ปลูกซ่อมแปลงปลูกเสริมป่าชายเลน (แปลง FPT พิเศษ) เนื้อที่ 275 ไร่ 

         - ปลูกเสริมป่าฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม หมู่ที่ 1 บ้านพะเนิน ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ประมาณ 400 ไร่  

 

ประโยชน์ที่ได้รับ

    1. เป็นสถานที่จัดการประชุม อบรมสัมมนา และการบรรยายความรู้เกี่ยวกับการ ดำเนินงานด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ที่มีความพร้อมสมบูรณ์สามารถรองรับผู้มาศึกษาดูงานและผู้สนใจทั่วไปได้อย่างเพียงพอ

    2. เป็นสถานที่แสดงนิทรรศการและผลงานทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความทันสมัยและมีความพร้อมของระบบต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนผู้มาเยี่ยมชมและผู้ที่สนใจทั่วไป

    3. สนับสนุนการให้บริการศึกษาดูงานและฟังการบรรยาย รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคแก่คณะเยี่ยมชมและศึกษาดูงานโครงการฯ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี

    4. เป็นพื้นที่ต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียโดยวิธีการธรรมชาติช่วยธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ เพื่อเผยแพร่สู่ประชาชนที่สนใจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

 

 

อ้างอิง :


           

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้