โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  14381 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดกาญจนบุรี

พระราชดำริ

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2533 ความโดยสรุปว่า ให้ดำเนินการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่บริเวณตำบลหนองปรือ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอหนองปรือ) ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนเป็นอย่างดี โดยขอให้ประสานและสนับสนุนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการขุดสระน้ำ ปลูกป่า ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และมีพระราชดำริเพิ่มเติมให้จัดหาที่ดินจำนวนหนึ่งเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว และพระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ทรงเน้นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยให้ราษฎรได้อยู่อาศัยทำกินร่วมกับการคงอยู่ของธรรมชาติอย่างเกื้อหนุนกัน คือไม่ทำลายซึ่งกันและกัน ตามหลักการฟื้นฟูและสร้างสมดุลในระบบนิเวศ ทำให้ทุกชีวิตมีความผาสุกและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ

    1. เพื่อดําเนินการบริหารทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมที่มีความอุดมสมบูรณ์โดยการแบ่งแยกพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ทั้งในด้านการอนุรักษ์ การฟื้นฟูสภาพป่าเป็นแหล่งต้นน้ำลําธาร การจัดสรรที่อยู่อาศัย ที่ทํากินและพื้นที่ส่วนกลางในการก่อสร้างสาธารณูปโภคที่จําเป็นต่างๆ

    2. เพื่อดําเนินการจัดระเบียบชุมชน ให้ราษฎรได้เข้าอยู่อาศัยและทํากินในพื้นที่ที่ได้ดําเนินการจัดสรรไว้แล้วอย่างเหมาะสมและถูกต้อง

    3. เพื่อดําเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้ราษฎรได้อาศัยทํากินในลักษณะพึ่งตนเองควบคู่กับการบริหารทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน

    4. เพื่อดําเนินการตามแนวคิดเรื่อง “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตไทยด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกๆฝ่าย


ผลการดำเนินงาน

    โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ประมาณ 20,625 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขาพระฤาษี – เขาบ่อแร่ โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เพื่อจัดทำโครงการตั้งแต่ปี 2534 - 2564 ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ 3 บ้านห้วยแม่ระวาง, หมู่ 4 บ้านม่วงเฒ่า ,หมู่ 5 บ้านบารมี และหมู่ 7 บ้านห้วยองคต มีการดำเนินงานสนองพระราชดำริจากส่วนราชการ ภาคเอกชนและราษฎร โดยการจัดตั้งเป็นคณะทำงานซึ่งมีกรมการปกครองเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับทุกภาคส่วนเพื่อบูรณาการแผนงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ มีแผนงานหลัก ได้แก่

    1. แผนงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและจัดระเบียบชุมชน 

       1.1 งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โดยดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 5 แห่ง พร้อมระบบส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร พร้อมทั้งขุดสระน้ำในพื้นที่การเกษตรและขุดลอกลำห้วยเป็นระยะๆ  

       1.2 งานพัฒนาด้านสาธารณูปโภค ดำเนินการก่อสร้างถนนลูกรัง ถนนลาดยางและถนนคอนกรีตในบริเวณแปลงที่ดินทำกินและแปลงที่อยู่อาศัย จัดสร้างระบบไฟฟ้า ระบบประปา โทรศัพท์ทางไกลผ่านดาวเทียม จัดสร้างโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง 1 แห่ง โรงเรียนมัธยม 1 แห่ง โรงเรียนประถมศึกษา 2 แห่ง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน 1 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 4 แห่ง และวัด 4 แห่ง 

       1.3 งานจัดแปลงที่อยู่อาศัย และแปลงที่ดินทำกินให้แก่ราษฎร ดำเนินการจัดแปลงที่อยู่อาศัย ดังนี้ 

             - จัดแปลงที่อยู่อาศัย แปลงละ 1 ไร่ จำนวน 652 แปลงรวมเป็นจำนวน เนื้อที่ 652 ไร่

             - จัดแปลงริมถนน กรป. กลาง (ตามการครอบครองของราษฎรเดิม) จำนวน 235 แปลง รวมเนื้อที่ 332 ไร่ 

             - ดำเนินการจัดแปลงเกษตรกรรมในพื้นที่เขตส่งน้ำอ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่ง โดยจัดพื้นที่แปลงละ 8 ไร่ จำนวน 906 แปลง รวมเป็นจำนวนเนื้อที่ทั้งหมด 7,248 ไร่

             - เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2544 ฯพณฯ พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์(ชั่วคราว)แก่ราษฎร จำนวน 810 ราย

    2. แผนงานด้านพัฒนาสังคม

       ดำเนินการให้มีการรวมกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยเหลือชุมชน ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความสามัคคี ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่มีบทบาทด้านสังคม ได้แก่ คณะกรรมการสตรีหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มอาชีพ ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่

    3. แผนงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

       ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการปลูกพืชหลายชนิดมีการเลี้ยงสัตว์ มีการรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ จัดหาอาชีพเสริมให้แก่ราษฎร ยกตัวอย่างเช่น การปลูกผักปลอดสารพิษ การส่งเสริมการปลูกไม้ผล ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ เป็นต้น

    4. แผนงานด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

       ดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่ที่ได้จัดไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าเนื้อที่ประมาณ 7,000 ไร่ โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา เพื่อให้สภาพป่าไม้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิมเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร โดยได้ดำเนินการปลูกป่าบริเวณที่เป็นภูเขา เชิงเขา พื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำ และตามแนวคลองส่งน้ำชลประทาน นอกจากนี้ยังได้มีการปลูกป่าในพื้นที่ส่วนกลางบริเวณชุมชนโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูกป่าและบำรุงรักษา

 

ประโยชน์ที่ได้รับ

    1. พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

    2. ฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์และสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า

    3. ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ “บวร” (บ้าน วัด ราชการ และโรงเรียน) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของราษฎร

    4. ศึกษาถึงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อจุดแข็งจุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการโครงการฯ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

 

อ้างอิง :


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้