โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว จังหวัดลำพูน

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  6971 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว จังหวัดลำพูน

    “ ที่เกิดเรื่องที่โครงการใหญ่ๆ เขาเกิดเรื่องอะไร เอะอะเดินขบวนกัน เพราะว่าคนที่ย้ายไปแล้ว ก็ย้ายไปในที่ที่ทำกินไม่ได้ เขาต้องร้องเรียน นี่ถ้าร้องเรียนอย่างนั้นแก้ยาก แต่ถ้าเราไม่ละเลยเมื่อเขาย้ายไปแล้ว ก็จะมีที่ที่จะทำมาหากินได้ ก็ตอนแรกก็ยังไม่เห็นด้วย แต่เราก็พิสูจน์ได้ แล้วโครงการเล็กๆ นี้ก็เป็นโครงการตัวอย่าง ”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

พระราชดำริ

    ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงรักและห่วงใยในความเป็นอยู่ของพสกนิกร รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้มีพระราชดำริให้พิจารณาสำรวจโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่อาวน้อย เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ให้ได้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี รวมทั้งให้มีการจำแนกป่าเสื่อมโทรมในบริเวณที่ราบแต่ดินยังมีคุณภาพดีให้จัดสรรเป็นที่ดินทำกินให้ราษฎรได้เข้าอยู่เป็นการถาวร เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ส่วนพื้นที่ลาดชันสูงหรือภูเขา รวมถึงบริเวณที่ดินมีคุณภาพไม่ดีให้ปลูกป่าทดแทน ตลอดจนให้ดำเนินการจัดระเบียบชุมชน จำแนกและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปรับปรุงฟื้นฟูสภาพดิน และแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน

    สำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วมเนื่องจากมีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ให้ ส.ป.ก. จัดหาพื้นที่รองรับที่มีความเหมาะสมให้ใหม่ เพื่อไม่ให้ราษฎรผู้อพยพต้องเดือดร้อน โดยให้เป็นตัวอย่างสำหรับโครงการอื่นๆ ต่อไป ดังความในกระแสรับสั่งว่า

    “...ถ้าเราไม่ละเลยเมื่อเขาย้ายไปแล้วก็จะมีที่ที่จะทำมาหากินได้ก็ตอนแรกก็ยังไม่เห็นด้วย  แต่เราก็พิสูจน์ได้แล้วโครงการเล็กๆ นี้ก็เป็นโครงการตัวอย่าง...”

    สำหรับการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว ให้ดำเนินการในลักษณะโครงการร่วม โดยใช้แผนที่ฉบับเดียวกัน หน่วยงานดำเนินการประกอบด้วย กรมป่าไม้ ส.ป.ก. กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน โดยกำหนดให้มีแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้

      กรมป่าไม้ พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการจำแนกประเภทป่าเสื่อมโทรม บริเวณที่ราบดินยังมีคุณภาพดี เพื่อจัดสรรให้ราษฎรไม่มีที่ทำกินได้เข้าอยู่เป็นการถาวร จะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ส่วนพื้นที่ดอย พื้นที่เนินสูง หรือภูเขาต่างๆ รวมทั้งพื้นที่ที่ดินคุณภาพไม่ดี และเสียสภาพป่า ให้ดำเนินการปลูกป่าทดแทน

      ส.ป.ก. พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการจัดระเบียบชุมชน และจัดแบ่งพื้นที่ทำกินและพื้นที่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากจน

      กรมชลประทาน พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับงานพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ในลุ่มน้ำแม่อาว อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เพื่อช่วยให้ราษฎรในเขตโครงการมีน้ำใช้เพาะปลูกและอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี โดยพิจารณาก่อสร้างแหล่งน้ำกระจายทั่วพื้นที่ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ สระเก็บน้ำ ฝายเก็บกักน้ำ ตามลำน้ำสายต่างๆ รวมทั้งปรับปรุง ขุดลอกคลองบึง ที่มีทั้งหมดในเขตโครงการ

     กรมพัฒนาที่ดิน พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการจำแนก และวางแผนการใช้ประโยชนที่ดิน การปรับปรุงฟื้นฟูสภาพดิน การแก้ไขปัญหาการชะล้างและพังทลายของหน้าดิน 

      สำนักงาน กปร. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานการดำเนินงานในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน  

 

วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ

    เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให ้มีความอุดมสมบูรณ์ควบคู่การจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย พัฒนาระบบสาธารณูปโภค ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์
ทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการลุ่มน้ำ

 

ผลการดำเนินงาน

    ซึ่งจากการดำเนินการใน ๗ แผนหลัก คือ แผนงานทรัพยากรน้ำ แผนงานทรัพยากรที่ดิน แผนงานทรัพยากรป่าไม้ แผนงานพัฒนาทางคมนาคมและสาธารณูปโภค แผนงานพัฒนาอาชีพ แผนงานพัฒนาสังคม และแผนงานบริหารโครงการ มีหน่วยงานร่วม ดำเนินการ 31 หน่วย เมื่อสิ้นสุดตามแม่บทระยะที่ 1 (ปี 2536-2540) ระยะที่ 2 (ปี 2541-2544) ระยะที่ 3 (ปี 2545-2548) และ ปี 2549 จนถึงปีปัจจุบัน ปรากฏผลการดำเนินงานดังนี้

    1. มีพื้นที่ป่าในโครงการฯ 61,160 ไร่ (คิดเป็น 48.1 % ของพื้นที่โครงการ)

    2. จัดที่ดินทำกิน โดยมอบ ส.ป.ก.4-01 แล้ว จำนวน 2,598 ฉบับ 1,988 ราย 22,430 ไร่ (คิดเป็น 82% ของพื้นที่ ส.ป.ก.)

    3. จัดการพื้นที่ลุ่มน้ำ

        - มีน้ำสำหรับพื้นที่เกษตร จำนวน 29,506 ไร่ (66 % ของเป้าหมาย หรือ 46% ของพื้นที่เกษตร 63,880 ไร่)

        - มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค 100% ของครัวเรือน

    4. การพัฒนาคมนาคมและสาธารณูปโภค จัดทำ

        - ถนนลาดยาง 255.667 กิโลเมตร

        - ถนนลูกรัง 137.44 กิโลเมตร

        - ถนนคอนกรีตในหมู่บ้าน 57.159 กิโลเมตร

        - ไฟฟ้าเพื่อการเกษตร 7 แห่ง

        - ขยายหมายเลขโทรศัพท์ 1,152 หมายเลข ทั่วทั้งพื้นที่โครงการฯ 

    5. พัฒนาอาชีพ ในและนอกการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้

        - ในระยะที่ 1 (ปี 2540) 65,000 บาท / ครอบครัว / ปี

        - ในระยะที่ 2 (ปี 2543) 43,489 บาท / ครอบครัว / ปี

        - ในระยะที่ 3 (ปี 2548) 98,800 บาท / ครอบครัว / ปี

    6. ทุกหมู่บ้านมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตผ่านเกณฑ์ จปฐ. มีราษฎรบางกลุ่มที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและจัดการลุ่มน้ำ เพราะมีการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มองค์กรต่างๆ ในระดับพื้นที่ขึ้นมา เช่น ในระดับผู้นำหมู่บ้าน กลุ่มสตรี แม่บ้าน กลุ่มอาสาปลูกป่า กลุ่มอาสาป้องกันไฟป่า

 

 

อ้างอิง :

 

 

 

    
 

    

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้