ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

Last updated: 20 ธ.ค. 2564  |  4906 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

    ...ประวัติมีว่า ตอนแรกมีที่ดิน 264 ไร่ ที่ผู้ใหญ่บ้านให้เพื่อสร้างตำหนัก ในปี 2522 ที่เชิงเขาหินซ้อนใกล้วัดเขาหินซ้อน ตอนแรก ก็ต้องค้นคว้าว่าที่ตรงนั้นคือตรงไหน ก็พยายามสืบถามก็ได้พบบนแผนที่พอดี อยู่มุมบนของระวางของแผนที่ จึงต้องต่อแผนที่ 4 ระวาง สำหรับให้ได้ทราบว่าสถานที่ตรงนั้นอยู่ตรงไหน ก็เลยถามผู้ที่ให้ที่นั้นนะ ถ้าหากไม่สร้างตำหนัก แต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเกี่ยวกับ การเกษตรจะเอาไหม เขาก็บอกยินดี ก็เลยเริ่มทำในที่นั้น...

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

    เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดศาลพระบวรราชานุสาวรีย์ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ณ ที่นั้น ราษฎร 7 ราย ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน บริเวณหมู่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 264 ไร่ เพื่อต้องการให้สร้างพระตำหนัก ด้วยเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปที่ไหนก็พยายามที่จะพัฒนาทำให้ที่ดินเจริญขึ้น เนื่องจากผืนดินเสื่อมโทรมไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังพระราชดำรัสฯ


    การดำเนินงานของศูนย์ฯ เขาหินซ้อนฯ ได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมการศึกษา ทดลอง วิจัย และการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดินทรายจัดเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งมีรูปแบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว โดยให้บริการแก่ประชาชนและเกษตรกรที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ ณ ที่แห่งเดียวในทุกสาขาวิชาชีพ เสมือน ”พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในด้านการเกษตรกรรม และการพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นต้นแบบ และแนวทางให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติในพื้นที่ต่อไป โดยเฉพาะหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน 14 หมู่บ้าน เนื้อที่ 113,214 ไร่

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

    ในการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาแห่งนี้ มีลักษณะการดำเนินงานแบบผสมผสาน มีหน่วยงานต่างๆรวมกันดำเนินงานในพื้นที่ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมชลประทาน กรมพัฒนาชุมชน กรมโยธาธิการ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา และมีหน่วยงานนอกศูนย์ฯ ตลอดจนภาคเอกชน สนับสนุนการดำเนินการอีกมาก โดยมีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักประสานการดำเนินการ และบริหารงานโดยคณะกรรมการ คณะทำงานต่างๆ ทั้งในระดับส่วนกลาง ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ
  

 
พื้นที่ดำเนินการ

1. พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่ ประมาณ 1,250 ไร่

2. โครงการส่วนพระองค์เขาหินซ้อนฯ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่ 655 ไร่

3. หมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ พื้นที่ลุ่มน้ำโจน จำนวน 15 หมู่บ้านในเขตตำบลเขาหินซ้อน และตำบลเกาะขนุน มีเนื้อที่ประมาณ 113,214 ไร่

4. พื้นที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวาย บริเวณตำบลบ้านซ่องและตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสาร คาม มีเนื้อที่ 33 ไร่

5. โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก มีเนื้อที่ประมาณ 23,157 ไร่

การดำเนินงานภานในศูนย์ฯ

    จากการดำเนินงานที่ผ่านมาศูนย์ฯ ได้ปรับปรุงและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐาน เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประกอบการเกษตรได้อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ กล่าวคือได้จัดสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สร้างสภาพป่าและไม้ยืนต้นในบริเวณโครงการและพื้นที่ข้างเคียงเป็นการปรับสภาพแวดล้อมและเพิ่มความชุ่มชื้นให้มากขึ้น สร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินซึ่งปัจจุบันพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝกในการดำเนินการดังกล่าว และปรับปรุงบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นหลังจากนั้นได้ศึกษาหาเทคโนโลยีพัฒนาการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ โดยเน้นวิธีการผสมผสานเป็นการรักษาสมดุลธรรมชาติและประหยัด เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรเข้าศึกษาหาความรู้ นำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองได้ ตลอดจนใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมศึกษาดูงานของผู้สนใจทั่วไป จากนั้นได้ขยายผลออกสู่หมู่บ้านบริเวณรอบศูนย์ให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
 

 

  
ประโยชน์ที่ได้รับ


1. เกษตรกร และผู้สนใจ เข้าเยี่ยมชมแปลงสาธิตการพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการเกษตร การพัฒนาและอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมในครัวเรือน ในลักษณะแหล่งเรียนรู้และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำ ไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตให้เกิดการพึ่งตนเองได้

2. เกษตรกรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ บริเวณลุ่มน้ำโจนมีน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภคและเพื่อการเกษตร รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

3. นำผลการศึกษา ทดลอง วิจัยทางการเกษตรและการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทางกายภาพและสังคมมาเผยแพร่ ขยายผล

4. รวบรวมและพัฒนาขยายพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ให้เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจได้ศึกษา เรียนรู้

    "...ที่เขาหินซ้อน หลายฝ่ายช่วยกัน ใช้เวลา 15 ปี ที่นี่จึงเป็นแม่แบบช่วยชาวบ้านได้ ที่อื่นเลยทำง่ายขึ้น ต้องอดทน แล้วเป็นไง ก็ได้ประโยชน์ ชาวบ้านมีความสุข เราก็สุข ที่นี่เมื่อก่อนปลูกมันสำปะหลังยังไม่ขึ้นเลย เดี๋ยวนี้ดีขึ้น แต่ก็เย็นสบายดี เปลี่ยนแปลงไปมาก..."

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชทานเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2540
ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

 

 

อ้างอิง :

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้