แอนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่"

Last updated: 15 พ.ย. 2566  |  2020 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แอนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่"

❝ รอยพระบาทที่ยาตรา นำผาสุกสู่พสกนิกร ❞

  ในปี 2512 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ทรงทอดพระเนตรเห็นหมู่บ้านในหุบเขา มีแต่ความแห้งแล้ง ดอยอ่างขางในเวลานั้นเป็นภูเขาหัวโล้น ชาวเขาปลูกฝิ่น ตัดไม้ทำลายป่า และยากจน

      ทรงมีพระราชดำริว่า พื้นที่นี้หนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก แต่ไม่มีป่าไม้ ทรงทราบว่า ที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองวิธีติดตาต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 1,500 บาท ซื้อที่ดินจากชาวเขาส่วนหนึ่ง ทรงตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ และได้พระราชทานนามว่า "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง" เพื่อใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรชาวเขา ซึ่งเป็นชาวเขา 4 เผ่า ได้แก่ ปะหล่อง มูเซอ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ

 

 

      มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ส่งเสริมการปลูกไม้ผล ไม้ตัดดอก พืชผัก ชาจีน ผลิตไหลสตรอเบอรี่ ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในพื้นที่ต้นน้ำ ทำให้ดอยอ่างขางร่มรื่นไปด้วยธรรมชาติ มีทัศนียภาพอันงดงามจนถูกยกให้เป็น “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย”

      ปัจจุบันพื้นที่ดอยอ่างขางได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง พลิกฟื้นภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกอันอุดมสมบูรณ์ ช่วยให้ชาวเขามีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ชาวไทยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้

นับเป็นแสงแห่งพระบารมี ที่ส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทย ตราบนิรันดร์

หมายเหตุ : คลิปแอนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ (ผลิต 2566) ชุดนี้ ผลิตขึ้นเพื่อน้อมถวายแด่พ่อหลวง "ในโอกาสครบ 7 ปีวันคล้ายวันสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคม 2566" อีกทั้ง เป็นการสร้างการรับรู้ให้กับเยาวชน และประชาชนโดยทั่วไปให้มากยิ่งๆ ขี้นไป

ขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนการผลิตคลิปนี้

  • ซึ่งท่านไม่ประสงค์จะออกนาม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้