Last updated: 31 ต.ค. 2565 | 1871 จำนวนผู้เข้าชม |
ปฐมบทแห่งลุ่มน้ำสายบุรี จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
ความเป็นมา : ลุ่มน้ำสายบุรี มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่ ได้รับการขนานนามมาแต่โบราณนับพันปีแล้วว่า “แม่น้ำทองคำ” มีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหมืองแร่ทองคำ และความอุดมสมบูรณ์อันแสนพิเศษของลุ่มน้ำสายบุรี มีเทือกเขาสลับซับซ้อน ชุ่มชื้น และแหล่งเกิดน้ำ นา ป่าพรุ
ลุ่มน้ำสายบุรีอยู่สุดปลายชายแดนไทย-มาเลเซีย มีพื้นที่ประมาณสามพันสองร้อยกว่าตารางกิโลเมตร แม่น้ำสายบุรีเกิดจากยอดเขา หลายแห่งในเทือกเขาสันกาลาคีรี ไหลผ่านเขตต้นน้ำที่สุดคิริน และหลายอำเภอในเขตนราธิวาส
พื้นที่ลุ่มสายบุรีระแวกนี้ มีระบบนิเวศน์ที่ซับซ้อนน่าทึ่ง เรียกว่าพรุ โดยเฉพาะพรุลานควาย ที่เป็นแก้มลิงธรรมชาติ แหล่งชะลอ และกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก และค่อยไหลลงสายบุรีตามฤดูกาล
ลุ่มน้ำสายบุรีส่วนใหญ่เป็นภูเขาและต้นน้ำลำธาร ถัดมาเป็นพื้นที่สวน ทั้งสวนผลไม้ สวนยางที่ปลูกเลียนแบบธรรมชาติ ลักษณะสวนดั้งเดิมของระแวกนี้เป็นสวนผสมผสาน พื้นที่ริมน้ำสายบุรีมักมีสวนโบราณที่เรียกว่า สวนดูซง มีผลไม้สารพัดชนิด โดยเฉพาะทุเรียน ที่สะท้อนถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นสวนวัฒนธรรม เป็นที่พึ่งของคนยากจน สวนเหล่านี้มีทั้งสวน ของชุมชน ของตระกูล และสวนส่วนบุคล เกิดเป็นความสัมพันธ์เกื้อกูลในกลุ่มชาวบ้าน เรียกได้ว่าเป็นสวนนิเวศน์วัฒนธรรม
ลุ่มน้ำสายบุรีตอนกลาง เป็นที่ราบสลับเนินเขาเตี้ยๆ บางแห่งคล้ายทะเลสาบใหญ่ เช่น พรุลานควาย ฤดูน้ำมาก เก็บน้ำได้มหาศาล แล้วค่อยระบายลงสู่แม่น้ำสายบุรี เป็นระบบนิเวศน์ที่พิเศษไม่เหมือนใคร ส่งผลให้คนลุ่มน้ำสายบุรี มีภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของตน
ในพื้นที่ราบลุ่มคนสายบุรีมี บือแน หรือ นา พื้นที่ไม่มากนัก แต่หลายคนก็พออยู่พอกิน และพอใจ เรียกว่าทำนาน้ำฟ้า พึ่งพาธรรมชาติ น้ำจากพรุ ไหลสมทบกับแม่น้ำสายบุรี สู่แผ่นดินอันชุ่มชื้น การค้าและการติดต่อทำให้พื้นที่ปลายน้ำสายบุรี เต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา อยู่ร่วมกันมาหลายร้อยปี