อนิเมชั่น เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ตอน พันธุ์ข้าวใหม่ 2พันธุ์พื้นบ้านชาวไทยมุสลิม

Last updated: 11 ก.ย. 2565  |  1383 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อนิเมชั่น เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ตอน พันธุ์ข้าวใหม่ 2พันธุ์พื้นบ้านชาวไทยมุสลิม

ความเป็นมา : ข้าวไทยและพันธุกรรมมีความสำคัญในแง่เดียวกับศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี คนไทยปลูกข้าวพื้นเมือง เพราะชอบรับประทาน จึงคัดเลือกพันธุ์ที่รสชาติดี อร่อย ข้าวพื้นเมืองยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของพื้นที่ และบางสายพันธุ์ยังมีคุณค่าโภชนาการที่มากกว่าข้าวทั่วไป ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ซึ่งอาจมียีนส์ต้านทานโรค ทนแล้ง ทนเค็ม หรือ ทนน้ำท่วม ลักษณะพันธุกรรมเหล่านี้สำคัญต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย

    ภาคใต้ถือได้ว่ามี “ข้าวพันธุ์พื้นเมือง” ที่หลากหลายแห่งหนึ่งของไทย ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบัน ทำให้มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคใต้และจำนวนชาวนาลดน้อยลง ส่งผลต่อการมีอยู่ของสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองใต้ได้ ซึ่งศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวพัทลุงได้เคยรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ไว้ได้ถึง 162 สายพันธุ์

    เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 คณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าว กรมการข้าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมติรับรอง ข้าวพันธุ์ใหม่ จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวเจ้าสายพันธุ์มะจานู 69 จากศูนย์วิจัยข้าวปัตตานีแ ละข้าวเจ้าสายพันธุ์อัลฮัมดุลิลลาฮ์ 4 จากศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง

    ข้าวเจ้าสายพันธุ์มะจานู 69 มีลักษณะเด่นคือ รวงยาวแน่นปานกลาง รูปร่างเมล็ดเรียว ท้องไข่น้อย ข้าวสุกไม่เหนียว ไม่ร่วน พื้นที่แนะนำในการปลูกคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

    ส่วน ข้าวเจ้าสายพันธุ์อัลฮัมดุลิลลาฮ์ 4 มีลักษณะเด่นคือ รวงจับกันแน่นยาว รูปร่างเมล็ดค่อนข้างป้อม ท้องไข่ปานกลาง ข้าวหุงสุก ค่อนข้างนุ่ม ไม่เหนียว ไม่ร่วน ตรงกับรสนิยมการบริโภคของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดสตูลและจังหวัดใกล้เคียง

 

 

    การรับรองพันธุ์ข้าวพื้นเมืองประจำจังหวัด คือบริบทหนึ่งในการดำเนินงานโครงการ ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งเป็นการบูรณาการ ระหว่างกรมการข้าว ร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี หน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

    การดำเนินงานประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1) การฟื้นฟูนาร้างเพื่อการปลูกข้าว
2) การส่งเสริมการผลิตข้าวพันธุ์พื้นเมือง
3) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวในพื้นที่เหมาะสม (Zoning)

    โดยการสนับสนุนปัจจัยการผลิต และถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตข้าว รวมถึงการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้คงอยู่สืบต่อไป และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชาวนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้