อนิเมชั่น เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ตอน โมเดลกำปงตักวา ชุมชนศรัทธา

Last updated: 21 ส.ค. 2565  |  2573 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อนิเมชั่น เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ตอน โมเดลกำปงตักวา ชุมชนศรัทธา

ความเป็นมา : การสร้างชุมชนเข้มแข็งเป็นหนึ่งในนโยบายในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากความเข้มแข็งของ กองกำลังภาคประชาชนในการป้องกันตนเองแล้ว ความเข้มแข็งจากภายในอันเกิดความมีคุณธรรม ที่ประชาชนยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด แนวคิดเรื่อง “กำปงตักวา” เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2550 และได้เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2556 ที่มัสยิดบ้านเหนือ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รวมถึงที่อำเภอปะนาเระ จ.ปัตตานี และที่บ้านกาสัง จ.ยะลา ซึ่งได้จัดตั้ง คณะทำงานพร้อมจัดทำแผนงานที่มีชื่อว่า “แผนการสนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนา” เป็นแนวทางหนึ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. นำมาขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้ง “กำปงตักวา”

คำว่า กำปง รากศัพท์มาจากภาษาอินโดนิเซีย แปลว่า หมู่บ้าน
ตักวา เป็นสิ่งที่บัญญัติไว้ในอัลกุรอ่าน หมายถึง ความยำเกรง
“กำปงตักวา” จึงหมายถึง ชุมชนที่มีการพัฒนาบนหลักความตักวา หรือความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า

ชุมชนตักวา คือ ศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เป็นสถานที่ชูรอของหมู่บ้าน ผ่านกลุ่มคนที่เรียกว่า“สี่เสาหลัก” ประกอบด้วย โต๊ะอิหม่าม, ผู้ใหญ่บ้าน, ตัวแทน (อบต.) และชาวบ้านในชุมชน โดยมัสยิดต้องเป็นศูนย์กลางในการบริหาร จัดการชุมชนมุสลิมในทุกด้าน พร้อมกำหนดองค์ประกอบต่างๆ ของกำปงตักวา อันได้แก่ องค์ประกอบด้านความศรัทธา องค์ประกอบด้านบริหารชุมชน และองค์ประกอบด้านการควบคุมชุมชน

 

 

มัสยิดบ้านกาสัง ถือเป็นมัสยิดแห่งแรกในอำเภอบังนังสตา จ.ยะลา ที่ขับเคลื่อนชุมชนตักวา อันเป็นพลังคุณธรรมที่สูงที่สุดของศาสนาอิสลาม ลงสู่มุสลิมในชุมชนด้วยกระบวนการขับเคลื่อนชุมชนตักวา 9 ขั้นตอน ได้แก่

  • ขั้นที่ 1 ทบทวนกระบวนการทัศน์ผู้นำมัสยิดสู่ชุมชนตักวา
  • ขั้นที่ 2 มีการทำงานร่วมกันของผู้นำชุมชนซึ่งเป็นเสาหลัก
  • ขั้นที่ 3 รณรงค์กิจกรรมชุมชนโดยมัสยิดเป็นศูนย์กลาง
  • ขั้นที่ 4 มัสยิดมีบทบาทเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน
  • ขั้นที่ 5 จัดการความรู้แก่ประชาชนที่มาร่วมละหมาดอย่างถูกต้อง
  • ขั้นที่ 6 ชี้ทางที่ถูกต้องตามหลักคำสอนอิสลาม ระหว่างมุสลิมกับมุสลิม และมุสลิมกับคนต่างศาสนิก
  • ขั้นที่ 7 จัดการทรัพย์สินเป็นกองทุนชุมชน
  • ขั้นที่ 8 มัสยิดเป็นศูนย์กลางกระบวนการชูรอของชุมชน
  • ขั้นที่ 9 กำหนดกติกาหมู่บ้าน หรือ ฮูกุมปากัต ตามคำสอนศาสนาอิสลาม สอดคล้องกับกฎหมายบ้านเมือง
     ชาวบ้านจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกครั้งไป เช่น ความเป็นอยู่ สาธารณสุช สุขภาพอนามัย การศึกษา อาชีพ และทำเกษตรตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้