Last updated: 4 ก.ค. 2565 | 1509 จำนวนผู้เข้าชม |
จากปัญหาด้านเศรษฐกิจนำมาสู่การรวมตัวกันของประชาชนจิตอาสาที่เรียกว่า “ดาหลาบารู”
ความเป็นมา : ความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบมาจากปัญหาทางด้านสังคม และการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลก็มีการกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนมาโดยตลอด ปัญหาที่สำคัญมากที่สุดคือ เมื่อประชาชนว่างงาน ยากจน ก็มักมีโครงการฝึกอาชีพหรือส่งเสริมกิจกรรมให้กับคนที่ไม่มีความพร้อม การลงทุนของรัฐจึงมักสูญเปล่า จากการแก้ปัญหาที่ผ่านมา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและเสริมช่องว่างดังกล่าว จึงได้มีประชาชนจิตอาสารวมตัวกันเพื่อคิดแก้ไข ปัญหานี้ร่วมกับทางราชการ โดยให้ราชการหนุนการทำงานของพวกเขา
หลักการแนวความคิด “กลับทิศการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ” โดยมุ่งส่งเสริมสนับสนุนการรวมตัวกันของกลุ่มอาชีพ หรือวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมผู้ที่สามารถทำอาชีพได้แล้ว ให้ประสบความสำเร็จอย่างมั่นคง เพื่อเป็นแรงจูงใจ ดึงดูดคนอื่นให้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเอง และขยายสมาชิกกลุ่มต่อๆ ไป เป็นกลุ่มชุมชนเข้มแข็ง โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการขยายสมาชิกที่มี อุดมการณ์เดียวกันออกไปเป็นเครือข่าย เหมือนการแตกกอของ "ต้นดาหลา" จึงเรียกกลุ่มตัวเองว่า “ดาหลาบารู” ซึ่งคำว่า ..ดาหลา.. หมายถึงพืชตระกูลข่าที่ปลูกขึ้นได้ง่าย และคำว่า “บารู” ก็แปลว่า “ใหม่” ที่มีคำขวัญว่า “กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้าเปลี่ยน” ขยายต้นกล้าแห่งความดีงามให้เป็นทุนทางสังคมที่มีพลัง เอาความรู้มารวมกันเป็นทุนทางปัญญา เมื่อรวมกันได้แล้ว ก็กำหนดพันธกิจ 4+7 ขึ้น
พันธกิจ 4+7 คือ กิจที่เครือข่ายต้องทำด้านเศรษฐกิจ 4 ประการ และทำด้านสังคม 7 ประการ
ประโยชน์ : ปัจจุบันมีกลุ่มอาชีพและวิสาหกิจชุมชน รวมตัวกันเป็นเครือข่ายดาหลาบารูแล้วมากกว่า 700 กลุ่ม มีสมาชิกกว่า 8,000 ครัวเรือน มีสินค้าที่ร่วมกันจำหน่ายได้มากกว่า 500 รายการ และจะขยายสมาชิกแตกกอหน่อดาหลาออกไปเป็น เครือข่ายจนครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ร่วมสร้างพลังอำนาจด้านเศรษฐกิจอย่างมั่นคงต่อไป
ด้วยความปรารถนาดีจาก กองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร