ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง จังหวัดเชียงใหม่

Last updated: 16 มิ.ย. 2565  |  5736 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง จังหวัดเชียงใหม่

    “….ทรงรับสั่งให้โครงการหลวงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาโดยกรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทานได้ดำเนินการสำรวจจัดสรรพื้นที่ดินทำกินให้แก่ราษฎร และพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาไม่มีที่ดินทำกินและขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ป่าทุ่งอีเริง...” 

พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

ประวัติความเป็นมา

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านป่าเลา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2519 มีราษฎรจากบ้านแม่ขนิลเหนือรับเสด็จและถวายฎีกา ขอแก้ไขปัญหาไม่มีที่ดินทำกินและขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ป่าทุ่งอีเริง ทรงรับสั่งให้โครงการหลวงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาโดยกรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทานได้ดำเนินการสำรวจจัดสรรพื้นที่ดินทำกินให้แก่ราษฎร และพัฒนาแหล่งน้ำ

    วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านแม่ขนิลเหนือ ณ บริเวณป่าทุ่งอีเริง ทรงติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ได้มีนายมอย อารีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านแม่ขนิลเหนือ อำเภอหางดงจังหวัดเชียงใหม่ถวายต้นกล้าสมอจีนทรงรับสั่งให้นำไปปลูกในบริเวณพื้นที่ป่าทุ่งอีเริงซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน เข้าดำเนินงาน ใช้ชื่อ “โครงการพัฒนาที่ดินทุ่งเริง

    วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการพัฒนาที่ดินทุ่งเริง โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดชรัชนีรับเสด็จและรับโครงการพัฒนาที่ดินทุ่งเริงตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริงเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพราษฎรชาวไทยพื้นราบ และราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง จำนวน 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านแม่ขนิลเหนือ, บ้านห้วยกว้าง, บ้านน้ำซุ้ม, โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนไต้หวัน โดยเรียกว่า “โครงการพัฒนาไทย–จีน”จำนวน 4 ศูนย์ฯ ประกอบด้วย ศูนย์ฯทุ่งเริง, ศูนย์ฯทุ่งเรา, ศูนย์ฯห้วยเสี้ยว และศูนย์ฯห้วยผักไผ่

    พ.ศ. 2526 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์เยี่ยมราษฎร ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง

    พ.ศ. 2534 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จแปลงรวบรวมพันธุ์กุหลาบศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยผักไผ่และพระราชทานชื่อ แปลง “สวนกุหลาบหลวง

    พ.ศ. 2543 มูลนิธิโครงการหลวงได้ควบรวมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยผักไผ่และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริงเข้าด้วยกัน ใช้ชื่อ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง” เพื่อสะดวกในการบริหารจัดการโดยคงกิจกรรมแปลง “สวนกุหลาบหลวง” พัฒนาเป็นแปลงรวบรวมพันธุ์กุหลาบและให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกร และผู้สนใจ

 

การดำเนินงานด้านการส่งเสริม/การวิจัย

    ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง มุ่งพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ได้แก่ ระบบมาตรฐานการเพาะปลูกพืชที่ดี(GAP) มาตรฐาน G.A.P. และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ส่งเสริมการปลูกไม้ผลผัก พืชไร่และการเลี้ยงสัตว์สร้างรายได้ที่มั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่เกษตรกรมีจำนวนเกษตรกรที่เป็นสมาชิก จำนวน 117 ราย นอกจากนี้ยังส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของดิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเข้มแข็งของคนและชุมชน โครงการหมู่บ้านปลอดยาเสพติด การพัฒนาสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมโครงการคาร์บอนต่ำให้แก่ชุมชน รวมไปถึงการรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรและกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ตลอดจนเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์แก่นักเรียนนักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป

 

ลักษณะทั่วไปของพื้นที่

      ที่ตั้ง : บ้านเลขที่ 55 หมู่ 6 บ้านแม่ขนิลเหนือ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

      ภูมิประเทศ : พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบหุบเขาและที่ราบเชิงเขา มีลำน้ำห้วยกว้างและลำน้ำห้วยฮ่อม ไหลผ่านพื้นที่มีความสูง 650 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางลักษณะดินเกิดจากชั้นดินดาน และหินปูน ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ค่าความเป็นกรด-ด่าง 5.5 –7.0

      การใช้ประโยชน์ที่ดิน : พื้นที่รวม 23,912.50 ไร่จำแนกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 20,159 ไร่คิดเป็นร้อยละ 84.30 พื้นที่การเกษตร 2,064.25 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.63 พื้นที่อยู่อาศัยและที่สาธารณะ 1,689.75 ไร่คิดเป็นร้อยละ 7  

      ภูมิอากาศ : อุณหภูมิสูงสุด 40 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ย  22 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน  1,055 มิลลิเมตรต่อปี

 

ข้อมูลหมู่บ้านและประชากร

    ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง มีพื้นที่ในความรับผิดชอบ 4 หมู่บ้านหลัก 1 หย่อมบ้าน ประชากร 340 ครัวเรือน จำนวน 1,531 คน เป็นคนไทยพื้นราบ และชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง

 

การปลูกพืช

      ผัก

         ผลผลิตหลัก ได้แก่ เบบี้ฮ่องเต้อินทรีย์  

         ผลผลิตรอง ได้แก่ ผักกาดฮ่องเต้, ชาโยเต้, ผักกาดกวางตุ้ง

      ไม้ผล

         ผลผลิตหลัก ได้แก่ อะโวคาโด

         ผลผลิตรอง ได้แก่ เสาวรสรับประทานสด

 

โครงสร้างพื้นฐาน

      ถนน : เป็นถนนลาดยาง ก่อนเข้าหมู่บ้านเป็นทางลูกรัง ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

      ไฟฟ้า : มีระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ในหมู่บ้าน จำนวน 4 หมู่บ้าน

      น้ำ : น้ำบาดาล 1 หมู่บ้าน/ชุมชน และประปาภูเขา 4 หมู่บ้าน/ชุมชน และมีแหล่งน้ำการเกษตร 3 หมู่บ้าน/ชุมชน แต่พบว่าขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคในฤดูแล้งเนื่องจากแหล่งต้นทุนธรรมชาติไม่เพียงพอ

      โทรศัพท์ : ไม่มี

 

สภาพเศรษฐกิจสังคม

     ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริงพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรอาชีพหลักคือการปลูกพืชผักได้แก่คะน้าฮ่องกง,ถั่วแขก,ผักกาดฮ่องเต้, เบบี้ฮ่องเต้,ผักกาดกวางตุ้ง,ชาโยเต้,แตงร้าน,โอ๊คลีฟเขียว, โอ๊คลีฟแดง, ถั่วฝักยาว และมะเขือเทศเชอรี่

    รวมทั้งปลูกไม้ผลได้แก่อะโวคาโด, เสาวรสรับประทานสดอาชีพรองคือเลี้ยงสัตว์ได้แก่ไก่เบรสและไก่กระดูกดำ และงานแปรรูปมี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านบ้านแม่ขนิลเหนือ แปรรูปผลิตผลจากอะโวคาโด และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาแปรรูปผลผลิตไม้ผล พืชผัก สมุนไพร และไม้ดอก

      รายได้เฉลี่ย :  เกษตรกรมีรายได้โดยเฉลี่ยต่อครอบครัว ประมาณ 128,405 บาทต่อครัวเรือนต่อปีรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร

      การรวมกลุ่มเกษตรกร : เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม ได้แก่กลุ่มทอผ้ากลุ่มท่องเที่ยวกลุ่มออมทรัพย์กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง

      บริการสาธารณสุข : ใช้บริการโรงพยาบาลหางดงหรืออนามัยหมู่บ้านแม่ฮะ

      ความช่วยเหลือจากภาครัฐ : หน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง และเทศบาลบ้านปง

      อาชีพหลักและอาชีพรองของเกษตรกร : เกษตรกรมีอาชีพหลักคือการทำอาชีพในภาคการเกษตรอาชีพรองคือการทำอาชีพนอกภาคการเกษตรและรับจ้าง 

 

 

อ้างอิง :


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้