Last updated: 19 พ.ค. 2565 | 15884 จำนวนผู้เข้าชม |
“….ให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก จ.เชียงใหม่ขึ้น โดยทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนดำเนินงาน เพื่อกเป็นศูนย์พัฒนาสาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดหอมและกาแฟ เป็นอาชีพเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ นอกเหนือจากอาชีพการปลูกเมี่ยง...”
พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ประวัติความเป็นมา
ปีพ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก วัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกเป็นศูนย์พัฒนาสาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดหอมและกาแฟ เป็นอาชีพเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ นอกเหนือจากอาชีพการปลูกเมี่ยง และในปีพ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จทรงเยี่ยมราษฎรบ้านแม่กำปองและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตกเป็นศูนย์พัฒนาสาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดหอมและกาแฟเป็นอาชีพเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ ทดแทนการปลูกเมี่ยง เพื่อลดปัญหาการตัดไม้ทำลายสิ่งแวดล้อม และเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนเนื่องจากมีรายได้ที่ไม่แน่นอน
การดำเนินงานด้านการส่งเสริม/วิจัย
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก มุ่งเน้นพัฒนาส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรและนอกภาคการเกษตรการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ รวมถึงการร่วมมือกับหน่วยงานราชการ ทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชนต่างๆ เช่น การสนับสนุนให้ชุมชนมีการรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและการสนับสนุนให้ชุมชนเป็นต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำบนพื้นที่สูงและได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้มากขึ้น โดยมีนักวิชาการจากส่วนกลางทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำและถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการไปสู่เจ้าหน้าที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเพื่อถ่ายทอดสู่เกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบมีประชากรที่ได้รับประโยชน์ 405 ครัวเรือน จำนวนประชากรรวม 982 คน และมีบุคคลภายนอก ได้แก่ เกษตรกรสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไปได้มาศึกษาเรียนรู้การพัฒนาทางเลือกบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง โดยการน้อมนำหลักศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
ลักษณะทั่วไปของพื้นที
ที่ตั้ง : บ้านธารทอง 99/5 หมู่ที่ 8 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
ภูมิประเทศ : ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไป ล้อมรอบด้วยภูเขาที่ไม่สูงชันมากนัก มีลำน้ำแม่กำปองและน้ำแม่ลาย ไหลผ่านตลอดทั้งปีพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 500 – 1,300 เมตร ลักษณะดินดินมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างดี มีปริมาณอินทรียวัตถุปานกลาง ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) 4-6
การใช้ประโยชน์ที่ดิน : ประกอบด้วย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 15,313 ไร่คิดเป็นร้อยละ 70.73 พื้นที่การเกษตร 5,620 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 25.96 และเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและสาธารณะ 717 ไร่คิดเป็นร้อยละ 3.31
ภูมิอากาศ : มีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส มีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 11 องศาเซลเซียส มีอุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝน 1,760 มิลลิเมตรต่อปี
ข้อมูลหมู่บ้านและประชากร
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก มีพื้นที่ 5 หมู่บ้าน 17 หย่อมบ้าน ประชากร 405 ครัวเรือน จำนวน 982 คน ซึ่งเป็นคนเมืองทั้งหมด
การปลูกพืช
ผลผลิตหลัก ได้แก่ กาแฟ
ผลผลิตรอง ได้แก่ เห็ด ผัก ไม้ผล ไม้ดอก และชา
โครงสร้างพื้นฐาน
ถนน ระยะทางจากจังหวัดเชียงใหม่ถึงศูนย์ฯ 53 กิโลเมตรส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยางและคอนกรีตถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นถนนคอนกรีต
ไฟฟ้า มีระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ในหมู่บ้าน จำนวน 5 หมู่บ้าน
น้ำ ประปาภูเขา 5 หมู่บ้าน/ชุมชน และมีแหล่งน้ำการเกษตร 5 หมู่บ้าน
โทรศัพท์ 093-1467726
สภาพเศรษฐกิจสังคม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรอาชีพหลัก คือ การปลูกกาแฟ เมี่ยง อาชีพรอง คือ การให้บริการด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน และงานหัตถกรรม
รายได้เฉลี่ย : เกษตรกรมีรายได้โดยเฉลี่ยต่อครอบครัว ประมาณ 49,547 บาทต่อครัวเรือนต่อปีรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร จำนวน 20,066,923 บาท
การรวมกลุ่มเกษตรกร : เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชากาแฟบ้านป๊อก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ดอกไม้กระถางบ้านธารทองกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมบ้านป๊อกกลุ่มออมทรัพย์และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
บริการสาธารณสุข : ใช้บริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลห้วยแก้ว หรือโรงพยาบาลแม่ออน
ความช่วยเหลือจากภาครัฐ : หน่วยงานราชการต่าง ๆ ในพื้นที่และองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว
อาชีพหลักและอาชีพรองของเกษตรกร : เกษตรกรมีอาชีพหลัก คือ การปลูกกาแฟ อาชีพรอง คือ เห็ด ผัก ไม้ผล ไม้ดอก และชา
อ้างอิง :
19 ก.ค. 2565
2 ส.ค. 2565
30 ส.ค. 2565
16 ส.ค. 2565