อนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ "โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมากจากพระราชดำริ"

Last updated: 21 ก.พ. 2565  |  1813 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ "โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมากจากพระราชดำริ"

เมื่อผืนดินดี และมีแหล่งน้ำ ได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร

   ความเป็นมา : ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จ.เพชรบุรี มีฝูงเนื้อทรายอาศัยอยู่จำนวนมาก จึงเป็นที่มาของ ห้วยทราย นามที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ

   แต่แล้วเมื่อผืนป่าถูกบุกรุกเพื่อทำไร่ จึงทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ขาดแหล่งน้ำ ดินเสื่อมคุณภาพ ราษฎรไม่สามารถทำการเกษตรได้อีก

   นับเป็นเวลาอันยาวนาน ที่ความแห้งแล้งปกคลุมห้วยทราย จนกระทั่งในวันที่ 5 เมษายน 2526 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ และมีรับสั่งว่า “หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด”

   พระองค์มีพระราชดำริ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ขึ้น เพื่อศึกษาค้นหารูปแบบการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของราษฎรอย่างเหมาะสม

   หลักการ : หญ้าแฝก เป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรม แถมยังช่วยยึดป้องกันการพังทลายของดิน และกักเก็บความชุ่มชื้น นอกจากนั้น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ได้ส่งเสริมให้ราษฎร บำรุงรักษาดินอย่างถูกวิธี เพื่อปรับพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก น้ำ เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิต และระบบอ่างพวงคือกลไกสำคัญในการส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ทำกินของราษฎร อย่างทั่วถึง การส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่อยู่นอกพื้นที่ มาเติมอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในโครงการ แล้วบริหารจัดการระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ ให้ไหลรินอย่างไม่ขาดสาย

   ระบบภูเขาป่า หรือป่าเปียก เป็นหนึ่งพระราชดำริ ที่สร้างความเจริญงอกงามให้ผืนป่า ด้วยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำด้านล่าง ขึ้นไปสู่จุดที่สูงที่สุด บนเนินเขา จากนั้น ปล่อยน้ำให้กระจายลงมา สร้างความชุ่มชื้นแก่พื้นที่ป่าด้านล่าง ทำให้พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ค่อยๆ ฟื้นตัว งอกงาม

   การส่งเสริมให้ราษฎรดำเนินตามแนวพระราชดำริ การปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง รวมทั้งการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะเนื้อทราย เพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยเวลาเพียงไม่นาน ผืนป่าได้ฟื้นคืนความสมบูรณ์อีกครั้ง

 

 

   ณ วันนี้ ด้วยผลสำเร็จแห่งการพัฒนา ได้ก่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง สมดั่งนาม “ห้วยทราย”

นับเป็นแสงแห่งพระบารมีที่จะส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทยตราบนิรันดร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้