อนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ "โครงการฝนหลวง"

Last updated: 1 ม.ค. 2565  |  7955 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อนิเมชั่นโครงการพระราชดำริ "โครงการฝนหลวง"

สายฝนจากฟากฟ้า สู่ปวงประชาด้วยพระเมตตา พระราชทานฝนหลวงให้ปวงชนชาวไทย

  ความเป็นมา : เมื่อปี พศ ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไป 15 จังหวัดของภาคอีสาน ทรงทอดพระเนตรเห็นความแห้งแล้งอย่างรุนแรง ขาดน้ำในการดำรงชีวิตและในการเกษตร ด้วยพระอัจฉริยะภาพของพระองค์ ทรงสังเกตเห็นบางสิ่ง จนมีพระราชดำรัสว่า...

  “...เงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...”

  ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้ และเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งใน และต่างประเทศ จนทรงมั่นพระทัย นับเป็นจุดเริ่มต้น ของฝน และเป็นจุดสิ้นสุดความทุกข์ของชาวไร่ชาวนา อันเกิดจากน้ำพระราชหฤทัย

  หลักการ : โครงการฝนหลวง ใช้หลักการ คือ ดัดแปลงสภาพอากาศ เลียนแบบธรรมชาติ เพื่อให้เกิดฝน เป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ซึ่งต้องใช้เครื่องบินที่มีอัตราการบรรทุกมาก ๆ บรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า เริ่มจากการตรวจสอบสภาพอากาศในพื้นที่ที่ต้องการให้ฝนตก อาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่ทรงอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ เรียกว่า การโจมตีแบบแซนด์วิช มี 3 ขั้นตอน

  1. ก่อกวน คือ ทำให้เกิดเมฆจำนวนมาก ในขั้นตอนนี้ จะมุ่งใช้สารเคมีไปกระตุ้น ให้มวลอากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำ หรือ ความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ
  2. เลี้ยงให้อ้วน คือ เพิ่มขนาดเมฆให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญมากในการปฏิบัติการฝนหลวง เพราะจะต้องไปเพิ่มพลังงานให้กับการลอยตัวของก้อนเมฆให้ยาวนานออกไป
  3. โจมตี คือ เมื่อเมฆลอยอยู่เหนือพื้นที่เป้าหมาย เครื่องบินจะโปรยเกลือโซเดียมคลอไรด์ และผงยูเรีย เพื่อเร่งให้เมฆกลั่นตัวเป็นฝน

  ประโยชน์ของฝนเทียมนั้นนอกจากจะช่วยในเรื่องการเกษตรและอุปโภคบริโภคแล้ว ยังช่วยในเรื่องเสริมสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ รวมทั้งช่วยดับไฟป่าได้อีกด้วย โครงการตามพระราชดำริ ฝนหลวง เป็นที่ประจักษ์สายตาชาวโลก และได้รับการจดสิทธิบัตรในเวลาต่อมา ด้วยความสำคัญ และความต้องการให้มีปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือทวีมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อให้งานปฏิบัติการฝนหลวงสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรได้กว้างขวาง และได้ผลดียิ่งขึ้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้ง สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2518 เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป กระทั่งมีการปรับปรุง และพัฒนาปฏิบัติการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

  ฝนหลวงเสมือนพรจากฟ้า พระราชทานผ่านเม็ดฝนอันฉ่ำเย็น เป็นดับทุกข์ คลายร้อน ให้พสกนิกรไทยนานหลายทศวรรษ ความฉ่ำเย็นจากฝนหลวง แผ่ปกทั่วแผ่นดิน

นับเป็นแสงแห่งพระบารมีที่จะส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทยตราบนิรันดร์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้