Last updated: 20 ธ.ค. 2564 | 5104 จำนวนผู้เข้าชม |
“…เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้นมีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง…ถ้าช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้างเขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการสูบฝิ่นและค้าฝิ่นได้ผลดี...”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด พัฒนาจากศูนย์วิจัยและส่งเสริมกาแฟอาราบิกาบ้านแม่หลอด มุ่งทดสอบสายพันธุ์กาแฟต้านทานโรคราสนิมที่ได้รับสายพันธุ์กาแฟอาราบิกาลูกผสมสายพันธุ์ต้านทานโรคราสนิม จำนวน 26 คู่ ผสมสายพันธุ์ของโปรตุเกสเพื่อแก้ไขปัญหาของโรคราสนิมในการพัฒนาและส่งเสริมกาแฟอาราบิกาในอดีต และนำพันธุ์แท้เบอร์ต่างๆ ลงปลูกที่ศูนย์วิจัยกาแฟอาราบิกา นับตั้งแต่ปี 2517 โดยคัดเลือกสายพันธุ์ที่แสดงความต้านทานโรคราสนิมไม่ต่ำกว่า 98% และได้นำออกไปสู่แปลงทดสอบบนพื้นที่สูงในชื่อ “คาติมอร์” (CATIMOR) กระจายออกไปยังแหล่งปลูกต่างๆ ในภาคเหนือ เช่น ป่าเมี่ยง ขุนวาง จ.เชียงใหม่ ดอยวาวีจ.เชียงราย เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ดอยมูเซอ จ.ตาก และแม่สะเรียง แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน และแพร่หลายไปยังที่อื่นๆ อีกด้วย
ในปีพ.ศ. 2527 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด” ได้ทำการคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟอาราบิกาต้านทานโรคราสนิมมาอย่างต่อเนื่อง มีแปลงลูกผสมชั่วที่ 2-3-4-5 และชั่วที่ 6 และเป็นแหล่งรวบรวมสายพันธุ์กาแฟอาราบิกาที่ปลูกภายใต้ร่มเงาจากการนำไม้โตเร็วมาปลูกมากกว่า 7 ชนิด จนกลายเป็นสวนกาแฟภายใต้ร่มเงาที่สมบูรณ์ที่สุด ในปัจจุบันมีพื้นที่ภายในสถานีฯ ทั้งหมด 58.80 ไร่ ทำการวิจัย ทดสอบสาธิตการผลิต รวบรวมและอนุรักษ์สายพันธุ์กาแฟอาราบิกา คัดสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิมเพื่อผลิตกล้า มีงานทดสอบสาธิตการผลิตพืชผัก/สมุนไพร 6 ชนิด ไม้ผล 7 ชนิด และฟาร์มสาธิตงานปศุสัตว์แล้วยังมีงานทดสอบสาธิตการผลิตพืชผัก/สมุนไพรไม้ผลและยังเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับนักศึกษาฝึกงาน จากสถาบันฯ ต่างๆ และแหล่งรองรับงานวิจัยจากหน่วยงานอื่นๆ
ต่อมา ปี พ.ศ. 2532 ได้ให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรบ้านแม่หลอด ทั้ง 4 หย่อมบ้าน และได้ขยายไปยังหมู่บ้านข้างเคียง เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่างได้ประโยชน์ 4 อย่างได้สนับสนุนกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ให้แก่ชุมชนและสนับสนุนการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผลผลิตหลัก ได้แก่ แตงกวาญี่ปุ่น ข้าวโพดหวานสองสี คะน้าฮ่องกง ถั่วแขก ผลชาโยเต้ เสาวรสหวาน เครปกูสเบอร์รี ส้มคัมควอท มะม่วงนวลคำ เลมอน ข้าวไร่ ข้าวนาพันธุ์ไก่ป่า ถั่วขาว และกาแฟอาราบิกา
ลักษณะทั่วไปของพื้นที่
ที่ตั้ง : บ้านแม่หลอด หมู่ที่ 10 ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านปางฮ่าง ต.สบเปิง อ.แม่แตง
จ.เชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านผาเด่น ต.สันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแม่ตอ ต.ป่าแป๋อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ภูมิประเทศ : ทั่วไปเป็นที่ราบเชิงเขาและที่ราบระหว่างหุบเขาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และเขตป่าสงวนแม่แตง เป็นดินประเภท Red dish Brown Laterite เนื้อดินร่วนซุย ปนทราย มีค่า PH 5.5-6.5 พื้นที่เพาะปลูกมีความสูง จากระดับน้ำทะเลปานกลาง 600 - 950 เมตร
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
มีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 8.36 ตารางกิโลเมตร (5,205.68 ไร่) พื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3,685.28 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 70.79 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ทำการเกษตร 1,285.71 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 24.70 เปอร์เซ็นต์และเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยและสาธารณะ 234.69 ไร่คิดเป็นร้อยละ 4.51 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลหมู่บ้านและประชากร
สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด รับผิดชอบการพัฒนาในพื้นที่ชุมชน 1 หมู่บ้าน (4 หย่อมบ้าน) มีประชากร รวม 222 ครัวเรือน จำนวน 629 คน ซึ่งเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง และคนเมือง
การดำเนินงานด้านการส่งเสริม/การวิจัย
สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด มุ่งเน้นพัฒนาด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ งานวิจัยและงานทดสอบสาธิตการผลิตพืชผัก ไม้ผล กาแฟ และงานปศุสัตว์ตลอดจนการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้ดำเนินการปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก และเน้นให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีสนับสนุนให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้รวมทั้งการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ รวมถึงการร่วมมือกับหน่วยงานราชการ ทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชน มีการจัดทำแผนชุมชน การทำการเกษตรแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้มากขึ้นโดยมีนักวิชาการจากส ่วนกลางทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ และถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการไปสู่เจ้าหน้าที่ของสถานีฯ เพื่อถ่ายทอดสู่เกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง ให้แก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานราชการตลอดจนผู้สนใจทั่วไป
อ้างอิง :
16 ส.ค. 2565
30 ส.ค. 2565
2 ส.ค. 2565
19 ก.ค. 2565