โครงการก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก จังหวัดกรุงเทพมหานคร

Last updated: 23 ส.ค. 2564  |  5051 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก จังหวัดกรุงเทพมหานคร

“…ให้ก่อสร้างถนนวงแหวนรอบใน (ถนนรัชดาภิเษก) โดยสร้างถนนเพิ่มขึ้นในรูปแบบของถนนวงแหวนรอบ (Ring Road) และถนนยกระดับ (Elevated Road) เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชนทั่วไป…”

พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

    เป็นโครงการแรกที่เกิดจากแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาการจราจรของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อต้นปีพุทธศักราช 2514 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูล เรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลองในวโรกาส ที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ 25 ปี และได้รับกระแสพระราชดำรัสเรื่องการจราจรติดขัด เห็นสมควรจัดสร้างถนนเพิ่มขึ้น อาจเป็นถนนวงแหวนรอบ (Ring Road)และถนนยกระดับ (Elevated Road) เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชนทั่วไป

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จวางศิลาฤกษ์ถนนวงรอบนี้ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2514 และได้พระราชทานนามว่า “ถนนรัชดาภิเษก”ลักษณะโดยทั่วไปของถนนรัชดาภิเษกเป็นถนนวงแหวนหรือวงรอบ สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจร ระหว่างชานเมืองด้านหนึ่ง ไปสู่ชานเมืองอีกด้านหนึ่ง โดยไม้ต้องผ่านใจกลางเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง ถนนรัชดาภิเษกเป็นถนนสายประธานที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบโครงข่ายถนนในผังเมืองกรุงเทพฯ โดยทั่วไปจะเป็นทางยกระดับดินที่มีเขตทางกว้าง 25-50 เมตร โดยแบ่งเป็น 2 ทิศทาง ทิศทางละ 2-4 ช่องจราจร มีเกาะกลาง ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง สองข้างทางมีทางเท้าที่กว้างพอสร้างท่อระบายน้ำ และปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่นตลอดสาย เส้นทางของถนนรัชดาภิเษกเริ่มจากแยกท่าพระ ตัดผ่านถนนตากสิน ข้ามสะพานกรุงเทพฯ ตัดผ่านถนนเจริญกรุง ถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนนางลิ้นจี่ บริเวณท่าเรือคลองเตย ผ่านถนนพระราม 4 เข้าไปในที่ดินของโรงงานยาสูบ ผ่านถนนสุขุมวิทไปตามแนวถนนอโศก ผ่านถนนลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนประชาชื่นไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปบรรจบกับถนนจรัญสนิทวงศ์ ไปตามแนวถนนจนถึงสามแยกท่าพระ มีความยาวตลอดสายประมาณ 45 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางเดิมประมาณ 18 กิโลเมตร และเส้นทางใหม่ประมาณ 27 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งสำรองไว้สำหรับวางรางรถไฟสายตะวันออกประมาณ 7.5 กิโลเมตร ที่ดินของการท่าเรือและโรงงานยาสูบ ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินเวนคืนจากเอกชน นอกจากนี้ยังต้องขยายและปรับปรุงถนนเดิมบางช่วง เพื่อให้ได้มาตรฐานตลอดสาย


ช่วงที่ใช้เส้นทางเดิม

     1. ช่วงจากถนนตากสินไปตามถนนมไหสวรรค์ ข้ามสะพานกรุงเทพฯ ถนนเจริญกรุง ความยาว ประมาณ 1.5 กิโลเมตร

    2. ช่วงจากแยกท่าพระ ไปตามถนนจรัญสนิทวงศ์ ข้ามสะพานพระราม 6 และไปตามถนนวงศ์สว่างถึงถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ความยาวประมาณ 14.5 กิโลเมตร

    3. ช่วงจากสี่แยก อสมท.ไปตามถนนอโศก-ดินแดง ตัดผ่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ถึงถนนสุขุมวิท ความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร


ช่วงที่ต้องสร้างใหม่

    1. ช่วงจากถนนเจริญกรุงถึงคลองวัดไทร ความยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร เปิดการจราจรเมื่อเดือนมกราคม 2520 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 30 ล้านบาท (ก่อสร้างพร้อมกับถนนพระราม 3)

    2. ช่วงจากคลองวัดไทรถึงถนนนางลิ้นจี่ ความยาวประมาณ 3.5 กิโลเมตร อยู่ภายใต้การควบคุมของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 5ธันวาคม 2530 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 112 ล้านบาท

    3. ช่วงจากถนนนางลิ้นจี่ถึงถนนสุนทรโกษา ความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เปิดการจราจรเมื่อเดือน ธันวาคม 2521 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 56 ล้านบาท

    4. ช่วงจากถนนสุขุมวิทถึงถนนสุนทรโกษา ความยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร เปิดการจราจรเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2531 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 128 ล้านบาท

    5. ช่วงจากถนนลาดพร้าวถึงสี่แยก อสมท. ความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร เปิดการจราจรเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2528 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 159 ล้านบาท

    6. ช่วงจากถนนวิภาวดีรังสิต-ถนนพหลโยธิน-ถนนลาดพร้าว ความยาว ประมาณ 4 กิโลเมตร เปิดการจราจรเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2522 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 63 ล้านบาท

    7. ช่วงจากถนนตากสินถึงสามแยกท่าพระ ความยาวประมาณ 3.2 กิโลเมตร เปิดการจราจรเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2530 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 171 ล้านบาท

    8. ช่วงจากแยกวงศ์สว่างถึงคลองเปรมประชากร ความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เปิดการจราจรเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2531 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 57 ล้านบาท

    9. ช่วงจากคลองเปรมประชากรถึงถนนวิภาวดีรังสิต (โครงการทางแยกต่างระดับรัชดาภิเษก-วิภาวดีรังสิต) ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายที่ทำให้วงแหวนรัชดาภิเษกครบวงรอบ เปิดการจราจรบางส่วนเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2536 และเปิดการจราจรทั้งหมดในวันที่ 12 สิงหาคม 2536


การปรับปรุงเส้นทางเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของถนนรัชดาภิเษก

    1. ช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา กรมโยธาธิการได้ก่อสร้างสะพานพระราม 7 ขนาด 6 ช่องจราจร แทนพระราม 6 ซึ่งก็ใช้ร่วมกับทางรถไฟและมีเพียง 2 ช่องจราจรเท่านั้น เปิดการจราจรเมื่อเดือนสิงหาคม 2536 ส่วนสะพานกรุงเทพฯ ซึ่งมี 4 ช่องจราจร กรมโยธาธิ การจะก่อสร้างสะพานคู่ขนานอีกหนึ่งสะพานในเร็ว ๆ นี้ โดยออกแบบให้ข้ามถนนเจริญนคร และถนนตากสินด้วย

    2. ช่วงจากสะพานพระราม 7 ถึงแยกวงศ์สว่าง ปรับปรุงขยายให้เต็มเขตทางเป็น 6 ช่องจราจร ใช้งบประมาณก่อสร้าง 65 ล้านบาท

    3. ช่วงถนนอโศก เดิมมีพื้นผิวจราจร 4 ช่องทาง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้พิจารณาก่อสร้างเป็นทางยกระดับหรืออุโมงค์เพื่อเพิ่มความจุอย่างน้อย 3 ช่องจราจร

    4. ช่วงถนนจรัญสนิทวงศ์ กรมโยธาธิการได้ดำเนินการจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาทำการสำรวจและออกแบบทางขนาดสายใหม่ เพื่อแบ่งเบาการจราจรในถนนจรัญสนิทวงศ์ และเสริมโครงข่ายถนนให้ดียิ่งขึ้น

    ทางแยกที่สำคัญในแนวถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานครได้พิจารณาดำเนินการก่อสร้าง สะพานข้ามทางแยก ซึ่งเปรียบเสมือนคอขวดของการจราจร เช่น แยกแม่พระ บางพลัด วงศ์สว่าง ประชานุกูล วิภาวดีรังสิต รัชโยธิน ลาดพร้าว เพชรบุรีตัดใหม่ ฯลฯ

    นอกจากนี้ ยังได้ก่อสร้างโครงการทางแยกต่างระดับรัชดาภิเษก-วิภาวดีรังสิต เป็นโครงการทางแยกชนิด Semi – directional Loop ที่เชื่อมโยงระหว่างถนนวิภาวดีรังสิต ถนนรัชดาภิเษกและถนนกำแพงเพชร 2 โดยที่รถไม่ต้องหยุดรอสัญญาณไฟอีกด้วย 


ลักษณะโครงการ

    ประกอบด้วย สะพานสายหลัก มีช่องจราจร 2 ทิศทาง ทิศทางละ 2 – 3 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 1,500 เมตร ก่อสร้างข้ามถนนวิภาวดีรังสิต ทางรถไฟสายเหนือ และคลองเปรมประชากร โดยไม่ปิดการจราจรระหว่างก่อสร้างถนนสายรอง ประกอบด้วย ทางขึ้นลง ทางกลับรถ และถนนต่อเชื่อม ส่วนเหนือพื้นดินมีช่องจราจร 1-2 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 2,480 เมตร ส่วนที่อยู่บนพื้นดินมีความยาวประมาณ 3,480 เมตร เพื่อให้โครงสร้างบางและเบา จึงได้ออกแบบตัวสะพานเป็นคานคอนกรีตอัดแรงต่อเนื่อง (Continuous Span) รูปกล่องมีปีกยื่น มีทั้งชนิดกล่องเดี่ยวและกล่องคู่ ซึ่งภายในกล่องจะมีการติดตั้งสาธารณูปโภค เช่น สายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ และอื่น ๆ เสาของสะพานมีความหนา 65 เซนติเมตร ออกแบบไว้เพื่อลดผลกระทบของแรงจากสะพานที่กระทำต่อเสา ช่วงห่างของเสาสะพานห่างกันตั้งแต่ 20-37 เมตร และมีช่วงรอยต่อของตัวสะพาน (Expansion Joint) ประมาณ 200-240 เมตร เชิงลาดสะพาน ประกอบด้วยโครงสร้างปลายเชิงลาด (Abutment ) ยาว 40-60 เมตร และโครงสร้างปรับระดับการทรุดตัว (Trasition) ยาว 40 เมตร จากพระบรมราโชบายสู่การดำเนินงานสร้างโครงการอย่างจริงจัง ในที่สุดโครงการทั้งหมดได้เสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้เมื่อวันที่ 12สิงหาคม 2536 ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของการหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านใจกลางเมืองที่มีการจราจรคับคั่งและยังช่วยระบายความแออัดของการจราจรใจกลางเมืองสู่บริเวณโดยรอบกรุงเทพมหานคร อีกด้วย

 

 

อ้างอิง :

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้