Last updated: 11 ส.ค. 2564 | 13258 จำนวนผู้เข้าชม |
“...หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการ หรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหา อ่านทราบโดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์ เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ...”
พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชปรารภว่า การเรียนรู้ในเรื่องราวและวิชาการสาขาต่างๆ โดยกว้างขวาง เป็นเหตุให้เกิดความรู้ ความคิด และความฉลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ช่วยให้บุคคล สามารถสร้างประโยชน์สุข สร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ตนเอง ทั้งแก่สังคม และบ้านเมือง อันเป็นที่พึ่งอาศัยได้ ทุกคนจึงควรมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ได้ ตามความประสงค์ และกำลังความสามารถ โดยทั่วกัน
ทรงพระราชดำริว่า หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการ หรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใด ก็สามารถค้นหา อ่านทราบโดยสะดวก นับว่า เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครู และที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วย คลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี จึงมีพระราชดำรัสให้ตั้ง โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เพื่อดำเนินการสร้างหนังสือสารานุกรมฉบับใหม่อีกชุดหนึ่ง มีความมุ่งหมายที่จะนำวิชาการแขนงต่างๆ ที่ควรศึกษา ออกเผยแพร่แก่เยาวชน ให้แพร่หลายทั่วถึง เพื่อเยาวชนจักได้หาความรู้ ช่วยตัวเองได้ จากการอ่านหนังสือ และเพื่อให้ได้ประโยชน์อันกว้างขวางยิ่งขึ้น ทรงกำหนดหลักการทำคำอธิบายเรื่องต่างๆ แต่ละเรื่อง เป็นสามตอน หรือสามระดับ สำหรับให้เด็กรุ่นเล็กอ่านเข้าใจระดับหนึ่ง สำหรับเด็กรุ่นกลางอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง และสำหรับเด็กรุ่นใหญ่ รวมถึงผู้ใหญ่ผู้สนใจอ่านได้อีกระดับหนึ่ง เพื่ออำนวยโอกาสให้บิดามารดา สามารถใช้หนังสือนั้น เป็นเครื่องมือแนะนำวิชาแก่บุตรธิดา และให้พี่แนะนำวิชาแก่น้องเป็นลำดับกันลงไป นอกจากนั้น เมื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดมีความเกี่ยวพันต่อเนื่องถึงเรื่องอื่นๆ ก็ให้อ้างอิงถึงเรื่องนั้นๆ ด้วยทุกเรื่องไป ด้วยประสงค์จะให้ผู้ศึกษาทราบตระหนักว่า วิชาการแต่ละสาขา มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงกัน พึงจะศึกษาให้ครบถ้วนทั่วถึง
ความเป็นมา
1. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อพระองค์ได้ ทรงพระราชปรารภกับ พลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ ประธานคนแรก ตั้งแต่ พ.ศ.2506 แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน จนกระทั่ง พ.ศ.2511 จึงมีคณะกรรมการ และได้เข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน ต่อมา พ.ศ.2512 คณะกรรมการจึงจัดทำสารานุกรมไทยฯ เล่มตัวอย่างขึ้น พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะให้มีสารานุกรมไทยที่คนไทยทำ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นหนังสือที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน และส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้หาความรู้ขั้นพื้นฐาน ในเรื่องราวและวิชาการสาขาต่าง ๆ เป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ เด็กรุ่นเล็ก อ่านเข้าใจ ระดับหนึ่ง เด็กรุ่นกลางระดับหนึ่ง และเด็กรุ่นใหญ่ รวมทั้งผู้ใหญ่ผู้สนใจอีกระดับหนึ่ง การเขียนบทความแต่ละเรื่อง จึงได้เขียนขึ้นให้ได้ลักษณะที่เหมาะสมสำหรับเยาวชนแต่ละรุ่น และพิมพ์ไว้โดยใช้อักษร ขนาดต่าง ๆ กัน แต่ละเรื่องเริ่มด้วยเรื่องสำหรับเด็กรุ่นเล็กก่อน ถัดไปสำหรับเด็กรุ่นกลาง แล้วจึงเป็นเรื่องสำหรับระดับรุ่นใหญ่
2. โครงการฯ เริ่มดำเนินงานใน พ.ศ.2512 โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ 7 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแพทยศาสตร์ มาจัดทำสารานุกรมไทยฯ เล่มที่ 1 ได้จัดพิมพ์แล้วเสร็จใน พ.ศ.2516 เป็นจำนวน 10,000 เล่ม และครึ่งหนึ่งของจำนวนพิมพ์ ได้นำทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระราชทานให้แก่โรงเรียน และห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรต่อไป ส่วนจำนวนที่เหลือได้นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นทุนในการจัดทำหนังสือเล่มต่อไป
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯได้ผลิตหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ออกมาแล้ว เป็นจำนวน 41 เล่ม หนังสือสารานุกรมไทย ฉบับเทิดพระเกียรติ "ธรรมิกราชาธิคุณ" และขณะนี้ (พ.ศ. 2560) กำลังจัดทำหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับผู้สูงวัย (ฉบับพิเศษ)
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ ที่พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ.2516 จนถึงปัจจุบัน (สำหรับหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 1 - 11 เลิกผลิตและไม่มีจำหน่ายแล้ว) มีรายละเอียดดังนี้
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 1
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2516 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ดวงอาทิตย์ อุปราคา ท้องฟ้ากลางคืน นก ปลา เครื่องจักรกล พลังงาน อากาศยาน และดนตรีไทย
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 2
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2518 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์ เวลา บรรยากาศ การตรวจอากาศ อุตสาหกรรม อุปกรณ์ขยายขอบเขตของสัมผัส มหาราชในประวัติศาสตร์ไทย การศึกษา กรุงเทพมหานคร และตราไปรษณียากรไทย
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 3
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2520 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ ข้าว ข้าวโพด ฝ้าย ยางพารา ทรัพยากรป่าไม้ ผลิตผลป่าไม้ การทำไม้ วัชพืช วัว ควาย และช้าง
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 4
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2521 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ การเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต การหายใจ ความสมดุลของของเหลวในร่างกาย ไวรัส ปรากฏการณ์ของอากาศ ภูมิอากาศ รถไฟ การศาสนา การต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์ และลำดับพระมหากษัตริย์ไทย
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 5
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2523 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ผัก ไม้ผล อ้อย มันสำปะหลัง พืชหัว การขยายพันธุ์พืช เป็ด ไก่ และ พันธุ์ไม้ป่า
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 6
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2525 มีทั้งหมด 15 เรื่อง คือ คณิตศาสตร์เบื้องต้น ประวัติและพัฒนาการเกี่ยวกับจำนวน เซต ตรรกวิทยา ฟังก์ชัน สมการและอสมการ จุด เส้น และผิวโค้ง ระยะทาง พื้นที่ ปริมาตร สถิติ ความน่าจะเป็น เมตริก กราฟ และ คณิตศาสตร์ ธรรมชาติ และศิลปะ
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 7
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2525 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ กล้วยไม้ ผีเสื้อในประเทศไทย การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โรคพืช ครั่ง การเลี้ยงปลา การชลประทาน บ้านเรือนของเรา และโทรคมนาคม (ภาคแรก)
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 8
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2526 มีทั้งหมด 7 เรื่อง คือ ประวัติการแพทย์และเภสัชกรรมไทย กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา การกำเนิดของโรค การบริบาลทารกและโรคทางกุมารเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์และวิสัญญีวิทยา เลือดและธนาคารเลือดในประเทศไทย และอุบัติเหตุและการปฐมพยาบาล
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 9
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2528 มีทั้งหมด 13 เรื่อง คือ เรื่องของยา สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา วิธีการทางการแพทย์ในการควบคุมการเจริญพันธุ์ การทำแท้ง การสาธารณสุข โรคมะเร็ง รังสีวิทยา ฟันและเหงือกของเรา เวชศาสตร์ชันสูตร เวชศาสตร์ฟื้นฟู นิติเวชศาสตร์ โภชนาการ และยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 10
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2530 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ โรคทางอายุรศาสตร์ โรคติดต่อและโรคเขตร้อน โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนังที่พบบ่อยในประเทศไทย โรคตา โรคหู คอ จมูก จิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และการปลูกกระดูกข้ามคน
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 11
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2531 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ ระบบการสั่งงานของคอมพิวเตอร์ การประยุกต์คอมพิวเตอร์ การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ สิ่งประดิษฐ์จากพัฒนการด้านคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ผลของการใช้คอมพิวเตอร์ และพัฒนาการอักษรไทยในเครื่องคอมพิวเตอร์
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 12
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2531 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ การแพทย์ การศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาชาวเขาและการเกษตรที่สูง การพัฒนาการเกษตรในชนบท การศึกษาการพัฒนา การสหกรณ์ การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาปัจจัยการผลิต และแผนที่
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 13
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2532 มีทั้งหมด 11 เรื่อง คือ เรือนไทย ชีวิตชนบท หัตกรรมพื้นบ้าน จิตรกรรมไทย นาฏศิลป์ไทย ตุ๊กตาไทย การละเล่นของไทย อาหารไทย การประดิษฐ์ผักและผลไม้ การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และธนาคาร
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 14
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2533 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ พระราชวังในกรุงเทพมหานคร พระราชวังในส่วนภูมิภาค ประติมากรรมไทย อาหารสัตว์ พืชอาหารสัตว์ การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ข้าวฟ่าง เทคโนโลยีชีวภาพ สารพิษและสิ่งปนเปื้อนอาหาร และสมุนไพร
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 15
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2534 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ ผึ้ง การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย ยาสูบ ไม้สัก ผ้าไทย ชุมชนโบราณในเมืองไทยจากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ น้ำเสีย ขยะมูลฝอย มลพิษทางอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับสากล
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2535 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระไตรปิฎกและ การชำระพระไตรปิฎก การอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ ศิลาจารึกและการอ่านจารึก สังคมและวัฒนธรรมไทย การผลิตหนังสือ การดนตรีสำหรับเยาวชน การช่างและหมู่บ้านช่าง ดาวเทียมเพื่อการเกษตร และการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการทางด้านการศึกษา
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 17
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2536 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ ช้างเผือก ฉันทลักษณ์ไทย ระบบนิเวศและความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิต โรคตับอักเสบจากไวรัส ของเสียที่เป็นอันตราย การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ปอแก้วปอกระเจา พืชเส้นใย การปรับปรุงพันธุ์พืช และข้าวสาลี
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 18
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2537 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ การแต่งกายของคนไทย กฎหมายกับสังคมไทย ประวัติการพิมพ์ไทย ภาษาและอักษรไทย ยาฆ่าแมลง ดินและปุ๋ย การเลี้ยงหมู และระบบการค้าผลิตผลการเกษตร
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 19
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2538 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พืชน้ำมัน การถนอมผลิตผลการเกษตร ม้า แมลง เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ศิลปะการนับเบื้องต้น ภูมิปัญญาชาวบ้าน และสารกึ่งตัวนำ
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 20
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2538 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ ศาสนาและระบบความเชื่อในประเทศไทย ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี เสียงและมลภาวะทางเสียง เลเซอร์ เซลล์แสงอาทิตย์ อัญมณี เวชศาสตร์การบิน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ และการปลูกถ่ายอวัยวะ
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 21
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2539 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ กระบวนพยุหยาตรา วีรสตรีไทย ศิลปะการทอผ้าไทย เครื่องถม เครื่องปั้น การตลาดและการส่งออกศิลปหัตถกรรม พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และองค์การสหประชาชาติและองค์การในเครือ
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 22
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2540 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ภาษาศาสตร์ เครื่องถ้วยไทย เครื่องจักสาน ไม้ดอกหอมของไทย เครื่องทุ่นแรงและเครื่องจักรกลเกษตร อาชีวอนามัย ครอบครัวไทย สัตว์ทะเลหน้าดิน และท่าอากาศยาน
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 23
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2541 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ ภูมิปัญญาไทย วัฒนธรรมทางละครไทย ละครรำ การละเล่นพื้นเมือง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ชาติพันธุ์ เฟิร์นไทย ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน1) การทำงานใต้น้ำ ระบบวิทยุ และการผลิตเบียร์
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 24
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2542 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ วรรณคดีมรดก ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน2) เมืองหลวงเก่าของไทย การผลิตรถยนต์ การผลิตรถจักรยานยนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ปิโตรเลียมและการผลิต โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ และแผนพัฒนาประเทศ
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 25
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2544 มีทั้งหมด 8 เรื่อง คือ ซอฟต์แวร์พื้นฐานสำหรับสำนักงาน ระบบฐานข้อมูล วิวัฒนาการของไมโครคอมพิวเตอร์ การพัฒนาซอฟต์แวร์ โครงข่ายประสาทเทียม อินเทอร์เน็ต การประยุกต์ใช้ภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์ และ แนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศ ในต้นศตวรรษที่ 21
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 26
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2545 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ นิทานพื้นบ้านไทย ห้องสมุดเสียงแห่งแรกของไทย ชุมชน การใช้สื่อประสมส่งเสริมการศึกษา ส้ม เชื้อเพลิง ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 27
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2546 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ลิเก การบริหารราชการแผ่นดิน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู ไฮโดรพอนิกส์ พิษภัยของแอลกอฮอล์ ผู้สูงอายุ พลังงานนิวเคลียร์ และการปฏิวัติทางพันธุกรรม
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 28
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2547 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ วัดไทย ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ตลาด ทุเรียน เทคโนโลยีชีวภาพทางการเษตร พิษภัยของบุหรี่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พลาสติกกับชีวิตในปัจจุบัน และแผ่นดินไหว
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 29
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2548 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ศิลปาชีพ พระพุทธรูป การผลิตทองรูปพรรณ อุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย สวนพฤกษาศาสตร์ เงินตรา ปลาสวยงาม ธาลัสซีเมีย และการดูแลสุขภาพที่บ้าน
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 30
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2548 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ศิลปการเห่เรือ หอพระไตรปิฎก ปราสาทขอมในประเทศไทย กฎหมายตราสามดวง ไม้ดอกหอมของไทย กล้วย ปลากัด คลื่นสึนามิ และวัสดุการแพทย์
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 31
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2549 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ตู้พระธรรม วัดญวนในประเทศไทย วรรณคดีท้องถิ่น พรรคการเมืองไทย การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย ดาวหาง ระบบสุริยะ และอัลไซเมอร์
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 32
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2550 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์ หุ่นกระบอก หนังสือโบราณของไทย สิทธิมนุษยชน เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ ชีวสนเทศศาสตร์ การยศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี และโรคออทิซึม
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 33
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2551 มีทั้งหมด 8 เรื่อง คือ สุนทรภู่ เพลงลูกทุ่ง คลอง วิวัฒนาการของมนุษย์ เซลล์เชื้อเพลิง เปลือกโลกและหิน อาหารกับโรคเรื้อรัง และการแพทย์แผนไทย
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 34
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2552 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เพลงพื้นบ้าน เครื่องประดับ หอยในประเทศไทย บริการธนาคารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พายุและฝนในประเทศไทย โรคพาร์กินสัน และโรคฉี่หนู
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 35
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2553 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ วัดจีน สงกรานต์ มวยไทย โรคพืชและการจัดการด้วยวิธีชีวภาพ มาตรวิทยา พยากรณ์อากาศ โรคข้ออักเสบรูมาทอย โรคเบาหวาน และโรคสะเก็ดเงิน
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 36
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2554 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ มัสยิด ละครชาตรี เกวียน ทองคำ มะคาเดเมีย หุ่นยนต์ แอนิเมชัน โรคมาลาเรีย และโรคไต
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 37
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2555 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ พระเจดีย์ หอศิลป์ ศิลปินแห่งชาติ ว่าว หนังสือพิมพ์ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โรคเอสแอลอี และโรคไข้หวัดใหญ่
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 38
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2556 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ลายไทย-ลายกระหนก บายศรี การอุดมศึกษา แก้วมังกร มะพร้าวน้ำหอม การผลิตยารักษาโรค รังสี โรคกระดูกและข้อในเด็ก และโรคพันธุกรรมในเด็ก
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 39
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2557 มีทั้งหมด 8 เรื่อง คือ การศึกษาของสงฆ์ เพลงกล่อมเด็ก เรือไทย ภูมิสถาปัตยกรรม สบู่ดำ การประปา โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟิเลีย และศัลยกรรมตกแต่ง
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 40
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2558 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ พิพิธภัณฑสถาน รางวัลซีไรต์ นกเงือกไทย เห็ด การโคลนนิ่งสัตว์ แร่เหล็ก การใช้เลเซอร์ในทางการแพทย์ ไข้ออกผื่น และมะเร็งต่อมลูกหมาก
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 41
พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2559 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ลอยกระทง ละครดึกดำบรรพ์ โนรา ภูมิลักษณ์เด่นในประเทศไทย ทะเลไทย ชา วัสดุวิศวกรรมทางการกีฬา เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ และโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
อ้างอิง :
30 ส.ค. 2565
19 ก.ค. 2565
16 ส.ค. 2565
2 ส.ค. 2565